Home » เรื่องของการรักษาศีล

เรื่องของการรักษาศีล

( Somboon )

by Pakawa

ั่นคงในเรื่องกรรม และผลของกรรม เพราะถ้าเหตุดี ผลก็ต้องดี เหตุไม่ดี ผลก็ต้องไม่ดี แล้วมั่นคงในการที่จะทำความดีด้วย เพราะว่าเชื่อเรื่องกรรมแล้ว ก็จะไม่ทำชั่ว

#เรื่องของการรักษาศีล

     การรักษาศีล ต้องเริ่มด้วยจุดประสงค์ที่ถูกต้อง ไม่ใช่ รักษาเพื่อที่จะได้มีศีลดี ได้กุศลเพราะความบริสุทธิ์ของศีล แต่การรักษาศีล เพื่อที่จะสละขัดเกลากิเลส ระมัดระวังทางกาย วาจา โดยเฉพาะการดำเนินชีวิตประจำวัน
    การรักษาศีล เช่น ศีล ๕ ศีล ๘ เป็นต้น ก็สมาทานตอนเช้า เพื่อประโยชน์ในการขัดเกลากิเลสในชีวิตประจำวัน เพราะการดำเนินชีวิตประจำวัน ก็มีการพบปะผู้คน ก็ควรที่จะสมาทานศีลก่อน เพื่อที่จะสำรวมระวังต่อไป ไม่ใช่ว่าไปสมาทานก่อนนอน ไม่เจอใคร ศีลจะได้ดี เพราะในความเป็นจริง ก็ต้องเข้าใจว่า ขณะที่เป็นศีล คือขณะจิตที่สมาทาน รักษา และขณะที่งดเว้นจากบาปในขณะนั้น ตัวอย่างเช่น ขณะใดที่มีเจตนารักษาศีล ขณะจิตนั้นก็เป็นศีล และขณะจิตต่อไปเป็นอกุศลจิต จะกล่าวว่าเป็นกุศลศีลอีกไม่ได้แล้ว จึงต้องพิจารณาทีละขณะจิต และขณะที่งดเว้นจากการตบยุง ในขณะนั้น ก็เป็นกุศลศีลที่งดเว้นจากบาป จะเห็นว่าขณะที่เป็นศีล ก็ต้องเป็นขณะจิตนั้น ไม่ได้เหมารวมทั้งหมดว่า ไม่ทำอะไรจะมีศีล เพราะไม่เช่นนั้น เด็กอ่อนทีเพิ่งเกิด ไม่ทำอะไรก็มีศีล หรือว่าสมาทานเพียงครั้งเดียวไม่ทำอะไรเลย จะมีศีลไปตลอด ไม่ใช่เช่นนั้น เพราะหลังจากสมาทานศีลแล้ว จิตขณะต่อไปก็เป็นอกุศล โกรธคนอื่น ตอนนึกในใจก็ได้ จะกล่าวว่าเป็นผู้ที่ศีล ที่เป็นกุศลศีลไม่ได้ และแม้ขณะที่หลับสนิท เป็นภวังคจิต เป็นจิตชาติวิบาก ไม่ใช่จิตชาติกุศล ก็ไม่ได้มีกุศลศีลในขณะนั้น เพราะฉะนั้น การรักษาศีลเพื่อขัดเกลากิเลสทางกาย วาจา เพื่อประโยชน์กับคนรอบข้าง ไม่ใช่เพื่อตนเองจะได้ไม่ล่วงศีล ได้อานิสงส์ผลบุญ จึงควรรักษาทุกกาล ทุกโอกาส โดยเฉพาะการสมาทาน รักษา ตั้งแต่เช้าในชีวิตประจำวัน ส่วนจะรักษาได้ ไม่ได้ก็ตามเหตุปัจจัย ตามอำนาจของกิเลส
    ศีลจึงเป็นเรื่องปกติจริงๆ ในชีวิตประจำวัน เพราะเหตุว่าชีวิตประจำวัน เป็นศีล ซึ่งไม่พ้นไปจากกาย วาจา ใจของแต่ละบุคคล ในแต่ละวันจิตใจเป็นอกุศล หรือเป็นกุศลมากน้อยเท่าใด เมื่อเทียบกันแล้วอกุศลย่อมมีมากกว่า แต่ถ้ามีการล่วงศีล มีการกระทำทุจริตกรรมประการต่าง ๆ ก็เป็นเครื่องแสดงว่า กิเลสมีกำลังมากทีเดียว ซึ่งทุกคนควรจะได้ทราบ และพิจารณาตนเองว่ามีการล่วงศีลข้อใดบ้างในแต่ละวัน กล่าวคือ มีการฆ่าสัตว์ เบียดเบียนสัตว์ มีการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ มีการประพฤติผิดในบุตรภรรยา ของผู้อื่น  มีการดื่มสุราของมึนเมาทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท บ้างหรือไม่ ประโยชน์อยู่ตรงนี้ เพื่อจะได้สำรวมระมัดระวังความประพฤติทางกาย ทางวาจาให้เป็นปกติเรียบร้อยดีงาม โดยงดเว้นในสิ่งที่ควรงดเว้น แล้วประพฤติในสิ่งที่ควรประพฤติ การรักษาศีล มีการถือเอาเป็นข้อปฏิบัติด้วยดีที่จะ เป็นการขัดเกลาจิตใจของตนให้เบาบางจากกิเลส แม้ว่ายังไม่ได้ดับกิเลสหมดเป็นสมุจเฉท (อย่างเด็ดขาด) ก็จริง แต่ก็เป็นการอบรมจิตใจให้เบาบางจากกิเลสอกุศล เพราะเหตุว่าถ้าไม่ทราบว่า การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ เป็นต้น เป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นสิ่งที่ทำให้สัตว์อื่น บุคคลอื่นเดือดร้อน เป็นทุกข์ ก็อาจจะเกิดความยินดีพอใจในความไม่ดีเหล่านี้ก็เป็นได้ และเมื่อเป็นกิเลส เป็นอกุศลธรรม เป็นอกุศลกรรม ก็ย่อมเป็นเหตุให้เกิดผลที่ไม่ดี (อกุศลวิบาก) ข้างหน้าสำหรับตนเองอีกด้วย เมื่อไม่ทราบอย่างนี้ เจตนาที่จะงดเว้นก็จะไม่มี แต่ถ้าทราบ ก็จะสามารถละคลายให้เบาบาง หรือว่างดเว้นเท่าที่สามารถจะกระทำได้ ซึ่งก็จะเป็นการชำระจิตใจให้เบาบาง ให้บรรเทาจากกิเลสและอกุศลได้ในชีวิตประจำวัน จนกว่าจะเป็นผู้มีศีล ๕ ที่บริสุทธิ์ โดยที่ไม่มีการล่วงอีกเลย เมื่ออบรมเจริญปัญญาบรรลุถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นพระโสดาบัน และประการสำคัญที่ควรพิจารณา คือกว่าที่ศีลจะบริสุทธิ์ได้จริง ๆ ก็ต้องมีปัญญา เข้าใจธรรมตามความเป็นจริง โดยเริ่มจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมสะสมปัญญาไปตามลำดับ นั่นเอง.

You may also like

Leave a Comment

ช่องทางติดตามข่าวสาร

Copyright @2024  All Right Reserved – Buddhawisdomfoundation Buddhawisdom

-
00:00
00:00
Update Required Flash plugin
-
00:00
00:00