Home » อุเบกขา

อุเบกขา

( Somboon )

by Pakawa

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เกื้อกูลให้เกิดปัญญา เข้าใจความจริงที่ถูกต้อง ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่ได้ก่อให้เกิดบุญกุศล แต่หลงผิดเข้าใจผิดว่าเป็นบุญกุศล ก็ไม่ทำให้สามารถเข้าใจความจริงได้ จนกว่าจะได้ฟังพระธรรมแล้วเข้าใจ

อุเบกขา

การฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม เป็นปกติในชีวิตประจำวัน เป็นการค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงๆ เป็นธรรม ตามความเป็นจริง  เพราะสิ่งที่กำลังฟังกำลังศึกษาให้เข้าใจนั้น ล้วนมีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน แต่เพราะไม่รู้ จึงต้องฟัง ต้องศึกษาให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง จากที่มากไปด้วยความไม่รู้ ไม่รู้อะไรเลย ก็จะค่อยๆ รู้ขึ้นเข้าใจขึ้นในสิ่งที่มีจริงๆ ตั้งแต่ขั้นฟังว่าเป็นสิ่งที่มีจริงๆ ไม่ใช่เรา เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย จนกว่าปัญญาจะค่อยๆ เจริญขึ้น รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริงได้ในที่สุด แม้แต่ อุเบกขา คำเดียว มีความหลากหลายมาก  
   อย่างเช่น อุเบกขา ที่เข้าใจกันซึ่งเป็นความเที่ยงตรง มีความเป็นกลางไม่เอนเอียงไปด้วยความรักหรือความชัง มีความเป็นกลางไม่ยินดียินร้าย ว่าโดยสภาพธรรมแล้วก็ได้แก่ ตัตรมัชฌัตตาเจตสิก เจตสิกนี้เป็นสภาพธรรมที่ไม่เอนเอียง เที่ยงตรง เป็นกลาง ซึ่งเป็นการยาก ลองพิจารณาดูถึงการที่จะเป็นผู้ที่ตรง ไม่เอนเอียง ในเมื่อยังเป็นผู้ที่หนาแน่นด้วยโลภะ โทสะ โมหะ แล้วจะเป็นอย่างไร นี่เป็นเรื่องที่ละเอียดที่จะต้องพิจารณาและจะต้องเป็นผู้ตรงต่อสภาพของจิตจริงๆ ซึ่งทุกขณะที่กุศลธรรมเกิดขึ้น ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก เกิดร่วมด้วยเสมอ
   แต่ถ้ากล่าวถึง อุเบกขาเวทนา ต้องเป็นความรู้สึกที่ไม่สุข ไม่ทุกข์  ซึ่งก็คือ เฉยๆ นั่นเอง เป็นเจตสิกอีกอย่างหนึ่ง ที่เกิดร่วมกับจิต ตามควรแก่จิตขณะนั้นๆ เช่น เกิดร่วมกับจิตเห็น จิตได้ยิน เป็นต้น ไม่ใช่ตัตรมัชฌัตตาเจตสิก แต่เป็นเวทนาเจตสิก
เฉยๆ คือ ความรู้สึกประเภทหนึ่งที่เป็นเวทนาเจตสิก เรียกว่า อุเบกขาเวทนา ซึ่ง ความรู้สึกเฉยๆ หรือ อุเบกขาเวทนา เกิดกับจิตได้ทั้ง ๔ ชาติ คือ เกิดกับกุศลจิตก็ได้ เกิดกับอกุศลจิตก็ได้ เกิดกับกิริยาจิตก็ได้ เกิดกับ วิบากจิตก็ได้ ดังนั้นเมื่อมีความรู้สึกเฉยๆ ไม่ได้หมายความว่า เป็นการวางเฉย ซึ่งเป็นอุเบกขาอีกอย่างหนึ่งที่เป็นกุศล แต่เป็น อุเบกขาเวทนา ซึ่งเกิดร่วมกับกุศลก็ได้ อกุศลประเภท โลภะก็ได้ โมหะก็ได้ เป็นวิบากที่เป็นผลของกรรมก็ได้ เช่น ขณะที่เห็น มีความรู้สึกเฉยๆ เกิดร่วมด้วยในขณะนั้น เพราะฉะนั้น เพียงความรู้สึกเฉยๆ จะเป็นตัววัดประเภทของจิตว่าเป็นอกุศลหรือกุศล ไม่ได้
หนทางที่ถูกต้องในการอบรมปัญญา คืออาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมไปเรื่อยๆ ปัญญาที่เจริญขึ้นที่เป็นธรรมจะทำหน้าที่เอง โดยไม่มีเราที่จะทำ โดยค่อยๆ เข้าใจความจริงที่เกิดขึ้น โดยไม่ได้เปลี่ยนสภาพธรรม ขอให้เข้าใจถูกว่า การอบรมปัญญา ไม่ใช่จะพยายามทำให้กุศลเกิดบ่อยๆ แต่ หนทางที่ถูกคือ เข้าใจความจริงที่เกิดแล้ว ว่าคืออะไร เพราะกิเลสที่จะต้องละก่อน คือ ความเห็นผิด ยึดถือว่ามีสัตว์ บุคคล ตัวตน มีเรา ดังนั้น ความรู้สึกเฉยๆ มีจริง เป็นธรรม อกุศลมีจริงเป็นธรรมไม่ต้องไปเปลี่ยน เปลี่ยนไม่ได้ แต่เข้าใจความจริงว่า เป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่เราที่มีกุศล หรือ อกุศล ถ้าเข้าใจตรงนี้ก็จะไม่เดือดร้อนกับอกุศลที่เกิดขึ้น เพราะเข้าใจความจริงว่า เป็นอกุศล เป็นธรรมไม่ใช่เรา แค่เพียงเลิกที่จะทำ ที่จะเปลี่ยน ก็เบาสบาย ด้วยไม่ติดข้องที่อยากจะทำ และเบาสบายด้วยความเข้าใจธรรมว่าไม่มีเรา บังคับบัญชาไม่ได้ ฟังพระธรรมต่อไปเท่านั้น หน้าที่ที่ถูกต้อง
  พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จึงเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด ให้เข้าใจตรงตามความเป็นจริงของสภาพธรรมแต่ละหนึ่งๆ.

You may also like

Leave a Comment

ช่องทางติดตามข่าวสาร

Copyright @2024  All Right Reserved – Buddhawisdomfoundation Buddhawisdom

-
00:00
00:00
Update Required Flash plugin
-
00:00
00:00