Home » มงคล คือ สิ่งที่นำมาซึ่งความเจริญ

มงคล คือ สิ่งที่นำมาซึ่งความเจริญ

( Somboon )

by Pakawa

มงคล คือ สิ่งที่นำมาซึ่งความเจริญ เพราะฉะนั้น คุณความดี เป็นมงคล การฟังพระธรรมเป็นมงคล เพราะนำมาซึ่งปัญญา ความดีอันประเสริฐอันเป็นพุทธประสงค์ของพระพุทธเจ้า มงคลชีวิตจึงไม่ต้องไปทำก่อนสิ้นปี หรือ ปีใหม่ ขณะใดที่ฟังพระธรรม เข้าใจพระธรรม นั่นคือ มงคลดี ขณะดี ในขณะนั้น

พรปีใหม่

ใกล้ปีใหม่แล้ว โดยมากท่านที่สูงอายุเป็นที่เคารพนับถือก็ให้พรคนอื่น ให้พรมิตรสหาย ให้พรใครต่อใคร หรือถ้าเป็นเด็กอายุยังไม่มากก็ไปขอพรจากผู้อื่น หรือจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ แต่รู้หรือยังว่า พร คืออะไร
พร คือ คุณความดีที่จะให้ผลที่ดี ความตั้งใจที่จะทำกุศล ที่สามารถจะกระทำได้ ผลของกุศลที่ได้ทำ ก็ต้องเป็นสิ่งที่ดี แม้คนอื่นจะให้พรท่านสักเท่าไรก็ตาม แต่ถ้าท่านไม่ให้พรแก่ตัวของท่านเอง คือ ตั้งใจที่จะทำกุศลทุกประการ ที่สามารถจะกระทำได้ นั่นก็เป็นแต่เพียงความคิดเรื่อง พร แต่พรจริงๆ นั้น คือ ความตั้งใจที่จะกระทำกุศล และกุศลควรจะเป็นทุกประการ ไม่ใช่แต่เฉพาะในเรื่องของทานเท่านั้น ยังมีกุศลประการอื่นๆ อีกในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ เช่น ศีล การฟังธรรม เป็นต้น
เรื่องของ พร การที่เราจะได้ผลที่ดี หรือไม่ดีไม่ได้อยู่ที่การให้พร หรือการสาปแช่ง แต่อยู่ที่เหตุ คือกุศลและอกุศลที่ทำ ในพระไตรปิฎก มีเรื่องที่เกี่ยวกับ พร ดังนี้ ภัคคชาดกที่ ๕
พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ ราชิการามซึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศล ให้จัดสร้างถวายใกล้พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภการจามของพระองค์ ตรัสพระธรรมเทศนานี้เริ่มต้นว่า ชีว วสฺสสตํ ภคฺค ดังนี้
ความมีว่า วันหนึ่งพระศาสดาประทับนั่ง ท่ามกลางบริษัท ที่ราชิการาม ขณะแสดงธรรม ทรงจามขึ้น. ภิกษุทั้งหลายได้พากันส่งเสียงเอ็ดอึงว่า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงพระชนม์เถิด ขอพระสุคตเจ้าจงทรงพระชนม์เถิด. เพราะเสียงนั้นได้ทำให้การแสดงธรรมหยุดลง. ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า   
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อเขากล่าวในเวลาจามว่า ขอให้ท่านจงเป็นอยู่เถิด ดังนี้ เพราะเหตุ ที่กล่าวดังนั้น คนนั้นจะพึงเป็นอยู่ หรือจะพึงตายเป็นไปได้ไหม
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า เป็นไปไม่ได้พระพุทธเจ้าข้า.
พระศาสดาตรัสต่อไปว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอไม่ควรกล่าวในเวลาเขาจามว่า ขอให้ท่านเป็นอยู่เถิด. ผู้ใดกล่าว ผู้นั้นต้องอาบัติทุกกฏ. 
   ในพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนที่เป็นไปในเรื่องการขัดเกลากิเลส คือ ความไม่ติดข้อง ความโกรธ และการละคลายกิเลสประการต่างๆ ด้วยกุศลธรรม และด้วยปัญญาเป็นสำคัญ ดังนั้น สิ่งใดที่เป็นไปเพื่อการติดข้อง เพื่อได้ ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้าและไม่ใช่พระพุทธศาสนา
    ในความเป็นจริงแล้ว พระพุทธเจ้าทรงแสดงในเรื่องกรรม และผลของกรรม การทำกรรมดีย่อมได้ผลดี การทำกรรมชั่วย่อมได้ผลชั่ว แต่กรรม การให้ผลของกรรม ย่อมมีกาลเวลาในการให้ผล ไม่ใช่ว่าทำกรรมนี้แล้ว กรรมนั้นจะให้ผลทันทีไม่ได้ นี่ประการหนึ่ง
    อีกประการหนึ่ง กรรมดี คือขณะที่กุศลจิตเกิดขึ้นชื่อว่ากรรมดี ดังนั้นขณะที่ไหว้พระขอพรขณะนั้น ไหว้ด้วยจิตที่ต้องการขอ ขณะนั้นไม่ได้น้อมระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า ขณะนั้น ไม่ใช่บุญ เพราะกำลังต้องการได้ผลตอบแทน เมื่อเป็นอกุศล จะให้ผลคือความสุข ความสำเร็จไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น เราจะต้องทราบจุดประสงค์ที่ถูกต้อง ในการมีพระพุทธรูปว่า ก็เพื่อน้อมระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า เพื่อประโยชน์ของตนเอง คือ กุศลจิต และเป็นเครื่องเตือนให้ทำความดี แต่ไม่ใช่มีไว้เพื่อขอ เพื่อเพิ่มอกุศลจิต คือการได้สิ่งที่ปรารถนา เพราะการได้สิ่งที่ปรารถนา ไม่ได้อยู่ที่การขอ แต่อยู่ที่เหตุในอดีต คือ ทำกุศลกรรม หรือ กุศลกรรมนั้น จะให้ผลหรือไม่ เป็นสำคัญเพราะแม้จะขอ หรือ ไม่ขอ หากกรรมดีให้ผล ก็ย่อมสำเร็จตามปรารถนา และจะขอหรือไม่ขอ หากกรรมชั่วให้ผล ก็ย่อมไม่สำเร็จตามที่ปรารถนา เพราฉะนั้น ก็ต้องมั่นคงในเรื่องของกรรม และจุดประสงค์ในการไหว้ และจุดประสงค์ในการมีพระพุทธรูปเพื่ออะไร ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
   อีกประเด็นที่ควรจะเข้าใจ คือ ประเด็นเรื่องของ พร ในพระพุทธศาสนา ไม่ใช่การขอในสิ่งที่ตนอยากจะได้ แต่ พร คือ การนำมาซึ่งสิ่งที่ดี พร ในพระพุทธศาสนา คือการทำความดี ทำกุศลกรรม ขณะนั้นเป็นพรกับตัวเองแล้ว เพราะย่อมจะนำสิ่งที่ดีมาให้ในอนาคต เมื่อกรรมนั้นให้ผล เพราะฉะนั้น แทนที่จะขอพรจากใคร หรือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ จากพระพุทธรูป ก็ทำความดี ทำกุศลก็เป็นพร และก็ทำหน้าที่ของตนในปัจจุบันให้ดีที่สุด ส่วนผลจะออกมาอย่างไรก็ถือว่าทำดีที่สุดแล้ว ส่วนการทุกข์ใจในเรื่องต่างๆ ก็ย่อมมีเป็นธรรมดาสำหรับผู้ที่มีกิเลส แต่เมื่อมีกิเลสแล้ว ก็ควรพิจารณาให้ถูกว่า เหตุคืออะไร ที่ทำให้เกิดความทุกข์ใจ ก็ไม่พ้นจากิเลสของตนเอง และการจะได้สิ่งที่ปรารถนา ก็ขึ้นอยู่กับกรรมเป็นสำคัญ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการขอพรจากพระพุทธรูป หรือจากใคร เมื่อเข้าใจดังนี้เบาด้วยความเข้าใจ และสิ่งที่ได้สำคัญที่สุด คือความคิดถูกตามสัจจะความจริงที่จะติดตัวไปในภพหน้า ให้คิดถูกยิ่งขึ้น
    ซึ่ง การให้พร การขอพร พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสไว้ว่า “ตถาคตเลิกให้พรแล้ว” ดังนั้น ที่เราไปขอพรที่พระพุทธรูป ก็ไม่ได้เป็นประโยชน์อะไร เพราะพระองค์ทรงแสดงว่า พร คือการทำความดีที่เป็นกุศลธรรมในขณะนั้น
ต่อไปนี้ท่านก็ไม่จำเป็นที่จะต้องขอพรจากผู้อื่นหรือที่อื่น แต่ถ้ามีผู้มาขอพรจากท่าน ก็อธิบายให้เขาเข้าใจว่าการทำกุศลทุกประการ ซึ่งจะนำผลที่ดีมาให้ นั่นเป็นพรอันประเสริฐ “ทำดี ดีกว่าขอพร” แต่ยังมีพรที่ประเสริฐสุด คือการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม จนเป็นความเข้าใจเป็นปัญญาของตนเอง เป็นพรอันประเสริฐที่พระพุทธองค์ทรงประทานให้.

You may also like

Leave a Comment

ช่องทางติดตามข่าวสาร

Copyright @2024  All Right Reserved – Buddhawisdomfoundation Buddhawisdom

-
00:00
00:00
Update Required Flash plugin
-
00:00
00:00