Home » ความตาย

ความตาย

( Somboon )

by Pakawa

#ความตาย

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า ตาย หมายถึง อะไร การตายของสัตว์โลก คือ จุติจิตเกิดขึ้น ทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ ในภพนี้ชาตินี้ ไม่สามารถกลับมาเป็นบุคคลนี้ได้อีก เป็นธรรมที่มีจริงที่เกิดขึ้นเป็นไป เมื่อจุติจิตดับไปแล้ว เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ทำกิจสืบต่อความเป็นบุคคลใหม่ สืบต่อทันที (สำหรับผู้ที่ยังมีกิเลส) เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่ได้บรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์ดับกิเลสได้ทั้งหมด เมื่อตายไป (จิตขณะสุดท้ายของชีวิตในชาตินี้ เกิดขึ้นทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้) ย่อมเกิดทันที แต่จะไปเกิดเป็นอะไร และ ที่ไหนนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับกรรมที่กระทำแล้ว กล่าวคือผู้ทำกรรมดี เมื่อตายไป กรรมดีให้ผลย่อมเกิดในสุคติภูมิ ได้แก่ ภูมิมนุษย์ ภูมิสวรรค์ ตามควรแก่เหตุ (คือกรรม)
  พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส เล่ม ๕ ภาค ๑ – หน้าที่ 155 พึงทราบประเภทแม้นี้อีกว่า ขณิกมรณะ สมมติมรณะ สมุจเฉทมรณะ.
เมื่อชีวิตยังเป็นไป ความแตกแห่งรูปธรรมและนามธรรม ชื่อว่า ขณิกมรณะ​ คำนี้ว่า ติสสะตาย ปุสสะตาย ดังนี้ ชื่อว่า สมมติมรณะ โดยปรมัตถ์ เพราะไม่มีสัตว์ แม้คำนี้ว่า ข้าวกล้าตาย ต้นไม้ตาย ดังนี้ก็ชื่อว่าสมมติมรณะ เพราะไม่มีชีวิตินทรีย์​กาลกิริยาอันไม่มีปฏิสนธิของพระขีณาสพ ชื่อว่า สมุจเฉทมรณะ
ขณิกมรณะ ขณิก (ชั่วขณะ) + มรณ (ความตาย) ความตายชั่วขณะ หมายถึง การดับไปของนามธรรม และรูปธรรมทุกๆ ขณะ ซึ่งเป็นความตายโดยปรมัตถ์ ฉะนั้น นามและรูป ซึ่งเป็น สังขารธรรมจึงมีการเกิดและการตายอยู่ตลอดเวลา ส่วนนามที่เป็น วิสังขารธรรม หมายถึง พระนิพพาน ไม่มีการเกิด จึงไม่มีการตาย
สมมติมรณะ สมมติ (ความรู้พร้อม โวหาร) + มรณ (ความตาย) ความตายโดยสมมติ หมายถึง ความสิ้นชีวิตของสัตว์บุคคลในชาติหนึ่งๆ คือเมื่อกรรมที่ทำให้เป็นบุคคลนั้นสิ้นสุดลง จุติจิตซึ่งเป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรมเดียวกันกับปฏิสนธิจิตในชาติเดียวกัน จะเกิดขึ้นเป็นจิตดวงสุดท้ายในภพชาตินั้น เมื่อจุติจิตดับก็ทำให้ความเป็นบุคคลนั้นจึงได้โวหารว่า คนตายหรือสัตว์ตาย เมื่อปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นในภพใหม่เพราะกรรมใดกรรมหนึ่งให้ผลเป็นชนกกรรมจึงกลายเป็นบุคคลใหม่ พ้นจากความเป็นบุคคลเก่าทันที เพียงแต่ยังมีกรรมกิเลสและอุปนิสัยต่างๆ ซึ่งนอนเนื่องและสะสมสืบต่อในจิตดวงต่อๆ ไป
สมุจเฉทมรณะ สํ (พร้อม ดี) + อุจฺเฉท (ตัด ขาด) + มรณ (ความตาย) ความตายอย่างเด็ดขาด หมายถึง ความตายของพระอรหันตขีณาสพ คือขณะที่จุติจิตของพระอรหันต์เกิดขึ้นแล้วดับไป ไม่มีปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นในภพชาติใหม่อีก เป็นความตายครั้งสุดท้ายในสังสารวัฏฏ์ เพราะไม่มีตัณหาซึ่งเป็นเหตุให้เกิดนามรูปในภพใหม่อีกต่อไป
ในขณะนี้ ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ในที่สุดแล้ว ก็จะต้องตายด้วยกันทั้งนั้น ควรอย่างยิ่งที่จะได้ประพฤติตนเป็นคนดี ตั้งอยู่ในกุศลธรรม และฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ จึงจะเป็นผู้มีชีวิตไม่ว่างเปล่าจากประโยชน์ในชาติที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ และได้พบพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่เสียชาติเกิดที่ได้เป็นคนดี และได้สะสมปัญญา จากการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง.

You may also like

Leave a Comment

ช่องทางติดตามข่าวสาร

Copyright @2024  All Right Reserved – Buddhawisdomfoundation Buddhawisdom

-
00:00
00:00
Update Required Flash plugin
-
00:00
00:00