โลภมูลจิต เป็นสภาพธรรม ที่เกิดขึ้นเป็นไปมากในชีวิตประจำวัน แต่ก็ไม่เกิน ๘ ประเภท แสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่มีเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม ก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน มีแต่ธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้นเป็นไป.
โลภะในชีวิตประจำวัน
ปกติในชีวิตประจำวันของบุคคลผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่นั้น อกุศลจิตย่อมเกิดมากกว่ากุศลจิต จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม แต่ส่วนมากมักจะไม่รู้ว่ามีอกุศลจิตเกิดมากกว่า, อกุศลเกิดขึ้น ตามการสะสมของจิตในอดีตที่ได้สะสมกิเลสมาอย่างมากมายนับชาติไม่ถ้วน โดยเฉพาะโลภะ ซึ่งเป็นความติดข้องยินดีพอใจในวัตถุต่าง ๆ ติดข้องยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส และสิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ซึ่งเป็นวัตถุกามในชีวิตประจำวัน รวมถึงความติดข้องยินดีพอใจ ในนามธรรมและรูปธรรมที่ยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนด้วย โลภะย่อมสะสมมากขึ้นทุกครั้งที่โลภมูลจิตเกิด เมื่อมีเหตุมีปัจจัย โลภะก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ เมื่อสะสมมากขึ้น มีกำลังมากขึ้น ย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้กระทำทุจริตกรรมประการต่าง ๆ เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน แต่ในขณะที่กระทำอกุศลกรรม กระทำทุจริตกรรมนั้น ตนเองย่อมเดือดร้อนก่อนคนอื่น เพราะขณะนั้นได้สะสมอกุศล สะสมกิเลสอันเป็นเครื่องแผดเผาจิตใจให้เร่าร้อน และเมื่ออกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้วถึงคราวให้ผล ก็ทำให้ตนเองประสบกับความทุกข์ ความเดือดร้อน ได้รับสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาไม่น่าใคร่ไม่น่าพอใจ อันเป็นผลของอกุศลกรรมที่ตนได้กระทำแล้วนั่นเอง ไม่มีใครทำให้เลย กล่าวได้ว่าเดือดร้อนทั้งในขณะที่กระทำและในขณะที่ให้ผล เนื่องจากว่า อกุศลกรรม ให้ผลเป็นทุกข์เท่านั้น จะให้ผลเป็นสุขไม่ได้เลย
โลภะติดข้อง ในสภาพธรรมที่ปรากฏและดับไปแล้ว โลภะ ติดข้องได้ทุกอย่าง แม้สภาพธรรมที่ดับไปแล้ว ก็สามารถนึกถึงอารมณ์ที่ดับไปแล้วได้ ด้วยสัญญาความจำ เช่น ติดข้อง ในรสของอาหารที่ได้ทานไปแล้ว ก็นึกถึงรสอาหารนั้น ก็ติดข้องได้ ในสภาพธรรมที่ดับไปแล้วนั่นเอง
โลภะ หรือ ตัณหา เมื่อเกิดขึ้น ขณะนั้น ย่อมไม่เห็นอรรถ ไม่เห็นธรรม ไม่เห็นตามความเป็นจริง เพราะโลภะที่เกิดขึ้น ขณะนั้นติดข้องและเมื่อโลภะเกิดขึ้นมีกำลังมาก ย่อมล่วงทุจริตทางกาย วาจา เป็นเหตุให้ไปอบายภูมิ มีนรก เป็นต้น โลภะ จึงเป็นเหตุแห่งทุกข์ทางกาย และทุกข์ทางใจด้วย เพราะอาศัยโลภะ เป็นปัจจัย ติดข้องในสิ่งใด เมื่อพลัดพราก ก็ทำให้ทุกข์ใจประการต่างๆ มีการทำร้ายตนเอง และผู้อื่นอันเกิดจากโลภะเป็นปัจจัย
โลภะ ที่เกิดขึ้น คลายช้า เปรียบเหมือนเครื่องผูกที่หย่อน แต่แก้ได้ยาก หลุดได้ยาก ไม่ให้หลุดไปจากสังสารวัฏฏ์ได้เลย
โลภะ เกิดขึ้น เปรียบเหมือนการตกลงไปในเหวลึก ขึ้นได้ยาก เพราะเป็นเหวที่สัตว์ตกไปโดยมาก ที่เป็นเหว คือ โลภะ โทสะ โมหะ สำหรับบุคคลผู้มีโลภะมาก ๆ ติดข้องมาก ๆ ย่อมไม่รู้จักคำว่าพอ ถึงแม้ภูเขาจะเป็นทองคำ ก็ยังไม่พอแก่กำลังของโลภะของผู้นั้น ส่วนบุคคลผู้ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ถึงแม้ว่าตนเองจะยังมีโลภะอยู่ก็ตาม เมื่อฟังบ่อย ๆ เนือง ๆ ย่อมจะมีความรู้ความเข้าใจถึงโทษภัยของโลภะ สามารถค่อย ๆ อบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ สามารถรู้ลักษณะของโลภะว่าเป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน และปัญญานี้เองเป็นธรรมที่จะดับโลภะได้อย่างเด็ดขาด การที่ปัญญาจะเจริญขึ้นได้นั้น ก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม พิจารณาไตร่ตรองพระธรรม ค่อย ๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ อดทนที่จะฟัง ที่จะศึกษาต่อไปด้วยความไม่ท้อถอย ที่สำคัญที่สุดคือ ไม่ขาดการฟังพระธรรม นั่นเอง
การเห็นโทษของโลภะ ตัณหา จะต้องรู้จักตัวโลภะ จริงๆ ก่อนว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา เพราะการเห็นโทษโดยการคิดนึก ไม่ได้ละกิเลส คือ โลภะจริงๆ เพราะจะต้องละความเห็นผิดว่าเป็นเราที่มีโลภะก่อน
ต้องเห็นโลภะจึงละโลภะ ได้เข้าใจความจริง เพราะเหตุว่าไม่รู้ความจริง ด้วยความไม่รู้ก็ทำให้คิดไปต่างๆ นานา แม้แต่จะละโลภะ จะพยายามทำให้โลภะไม่เกิด แต่ด้วยความไม่รู้อะไรเลย ขณะนั้นก็ด้วยโลภะนั่นเองที่มีความต้องการอย่างนั้น เพราะฉะนั้นถ้าไม่เห็นตัวโลภะด้วยปัญญาจริงๆ ก็ไม่สามารถจะละโลภะได้ และการละอกุศลต้องตามลำดับขั้น ละความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยงในขณะที่เห็น ไม่มีความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่ปรากฏแล้วจะไปละโลภะได้อย่างไร ไม่มีทางเลย พยายามไปทำอย่างอื่น ซึ่งไม่ใช่หนทางที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ความจริง ซึ่งละเอียด คัมภีร ลึกซึ้ง เวลาที่โกรธ ต้องการอะไร ต้องการไม่ให้โกรธ ใช่ไหม ไม่ใช่รู้ลักษณะของโกรธซึ่งกำลังปรากฏว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา มิฉะนั้นแล้ว เมื่อไรจะถึงการละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้.