จริงอยู่พระพุทธเจ้าทั้งหลายเรียกบุรุษผู้ไม่มีอุปนิสัยแห่งมรรคและผลในอัตภาพนั้นว่าโมฆบุรุษ. ครั้นเมื่ออุปนิสัยแม้มีอยู่ แต่มรรคหรือผล ไม่มีในขณะนั้น ก็เรียกว่า โมฆบุรุษเหมือนกัน
โมฆบุรุษ
โมฆบุรุษ คือบุคคลที่ว่างเปล่า ไม่มีแก่นสาร ว่างเปล่าจากอะไร
๑. คือว่างเปล่าจากกุศลธรรมในขณะนั้นคือขณะนั้นเป็นอกุศลที่มีกำลัง เป็นโมฆบุรุษในขณะนั้น ยกตัวอย่างเช่น ภิกษุชาวเมืองโกสัมพีด่าว่ากันและกัน ขณะนั้นเป็นอกุศลที่มีกำลัง เป็นโมฆบุรุษว่างเปล่าจากกุศลธรรม พระพุทธเจ้าทรงเรียกเหล่าภิกษุชาวเมืองโกสัมพีว่าโมฆบุรุษ
๒. คือว่างเปล่าจากความเห็นถูก คือเป็นผู้มีความเห็นผิด เป็นโมฆบุรุษ พระพุทธองค์ทรงเรียกครูมักขลิโคสาลผู้ที่มีความเห็นผิดอย่างมากว่าเป็นโมฆบุรุษ
๓. คือว่างเปล่าเพราะไม่มีอุปนิสัยที่จะได้บรรลุมรรคผลในชาตินั้นคือไม่มีทางบรรลุในชาตินั้นก็ชื่อว่าเป็นโมฆบุรุษ ผู้ที่ว่างจากการบรรลุในชาตินั้นจึงเป็นโมฆบุรุษ
๔. คือว่างเปล่าแม้จะมีอุปนิสัยจะได้บรรลุในชาตินั้นและท้ายที่สุดได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ แต่ขณะนั้นเป็นอกุศล จึงว่างเปล่าจากการบรรลุในขณะนั้น ขณะนั้นก็ชื่อว่าเป็นโมฆบุรุษ ในพระไตรปิฎก พระพุทธองค์ทรงติเตียนท่านพระอุปเสนวังคันตบุตรว่าเป็นโมฆบุรุษเพราะเป็นผู้มักมาก ท่านสะสมบริขารมีบาตรและจีวรมากมาย ทำให้เป็นผู้มักมากในขณะนั้น ขณะนั้นจึงว่างเปล่าจากการบรรลุ ว่างเปล่าจากกุศลธรรมจึงเป็นโมฆบุรุษ ซึ่งท่านพระอุปเสนวังคันตบุตรท่านมีอุปนิสัยได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในชาตินั้นและต่อมาไม่นานที่พระพุทธเจ้าทรงติเตียนว่าโมฆบุรุษ ท่านก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์
๕. ผู้ที่ศึกษาธรรมผิดทางเปรียบเหมือนจับงูพิษที่หางก็เป็นโมฆบุรุษ ผู้ที่ศึกษาธรรม ไม่ใช่เพื่อประโยชน์คือการขัดเกลากิเลส แต่มุ่งเพื่อได้ มุ่งเพื่อจำชื่อมากๆ ไม่เป็นไปเพื่อน้อมระลึกสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ก็ไม่ได้สาระจากพระธรรม ก็ย่อมเป็นโมฆบุรุษว่างเปล่าจากความเห็นถูก ว่างเปล่าจากคุณธรรมเพราะศึกษาธรรมไปในทางที่ผิด เพราะฉะนั้น ประโยชน์สูงสุดของการศึกษาพระธรรมคือเข้าใจความจริงในขณะนี้และน้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม ตามกำลังของปัญญา ด้วยความเคารพในพระธรรม
ข้อความใน พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ – หน้าที่ 70
บทว่า โมฆปุริโส ความว่าบุรุษเปล่า จริงอยู่พระพุทธเจ้าทั้งหลายเรียกบุรุษผู้ไม่มีอุปนิสัยแห่งมรรคและผลในอัตภาพนั้นว่าโมฆบุรุษ. ครั้นเมื่ออุปนิสัยแม้มีอยู่ แต่มรรคหรือผล ไม่มีในขณะนั้น ก็เรียกว่า โมฆบุรุษเหมือนกัน.
โมฆบุรุษจึงมีหลายระดับ หลากหลายนัยตามที่กล่าวมา จึงเป็นเครื่องเตือนเราท่านทั้งหลายว่าเป็นโมฆบุรุษหรือไม่ และเมื่อรู้ตามความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่จะทำให้ละความเป็นโมฆบุรุษได้คืออะไร ถ้าไม่ใช่การฟังพระธรรมในหนทางที่ถูกต้องอันเป็นไปเพื่อความเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้และน้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมด้วยความเคารพ.