Home » เวทนานุปัสสนา

เวทนานุปัสสนา

( Somboon )

by Pakawa

ผู้ที่มีการสะสมที่จะมีความเข้าใจผิด ไม่ได้ไปหาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ไปหาคนอื่นที่มีชื่อเสียงที่เขาคิดว่าถูกต้อง เพราะ เป็นธาตุ ความไม่รู้กับ ความเห็นผิด ก็ไปตามความไม่รู้ และความเห็นผิดซึ่งเกิดขึ้นนำไป

เวทนานุปัสสนา

“ภิกษุนั้นมีความเห็นชอบ ย่อมกำหนดรู้เวทนาทั้งหลายได้ เธอครั้นกำหนดรู้เวทนาแล้ว ไม่มีอาสวะในปัจจุบัน ตั้งอยู่ในธรรม จบเวท ตายไป ย่อมไม่เข้าถึงการบัญญัติ”
ฟังดูเหมือนกับทำได้โดยไม่ต้องมีปัญญาเลย แต่ความจริง มหาสติปัฏฐานเป็นการอบรมภาวนาให้ปัญญาเจริญขึ้น ตั้งแต่การรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ในขณะนี้ก็เป็นนามธรรมและรูปธรรม แต่ก็เป็นเพียงรู้เรื่องราวของนามธรรมและรูปธรรมขั้นการศึกษาเท่านั้น
     เพราะฉะนั้น การศึกษาอีกระดับหนึ่ง ต้องเป็นอธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา ซึ่งเริ่มตั้งแต่ต้นจนกว่าจะสมบูรณ์ ถึงมรรคจิตที่สามารถจะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท แต่ถ้าปัญญาขั้นต้น ๆ ไม่มี ที่ปัญญาจะเจริญขึ้นได้ก็มีไม่ได้
      ไม่ใช่ว่าใครก็ตามที่อ่าน เวทนานุปัสสนา ก็พยายามจะไปรู้เวทนาด้วยความเป็นเรา แต่ว่าธรรมต้องสอดคล้องกัน ตั้งแต่คำต้นจนถึงคำท้าย ธรรมเป็นธรรม ไม่เรียกอะไรก็ได้ แข็งจะใช้ภาษาอะไรก็ได้ หรือแม้ไม่เรียกแต่สามารถที่จะรู้โดยกายสัมผัสได้ เพราะว่าสิ่งนั้นมีจริง
      ถ้าเข้าใจธรรมจริง ๆ ว่าเป็นธรรม ก็จะไม่มีเราจะไปดูเวทนา เพราะว่าจะดูสักเท่าไร ก็เป็นเราที่ดู จะเห็นเวทนา ก็เป็นเราที่เห็น ขณะนั้นเป็นสุข ก็ยังคงเป็นเราที่สุข ไม่มีการที่สามารถจะรู้ได้ เข้าใจได้ว่า ลักษณะของสติไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ความต้องการที่ต้องการจะดู แต่ต้องรู้ว่า ขณะนี้สติเกิด หรือหลงลืมสติ นี่เป็นขั้นต้นสำหรับสติปัฏฐาน หรือวิปัสสนาภาวนา ถ้าเป็นขั้นของสมถะ  ต้องมีปัญญาระดับที่สามารถจะรู้สภาพของจิตที่ต่างกันว่า ขณะใดเป็นกุศลจิต ขณะใดเป็นอกุศลจิต แล้วจึงจะค่อย ๆ กัน นิวรณธรรม ซึ่งก็ได้แก่ อกุศลจิตทุกชนิดออกไปได้ เพราะว่าขณะนั้นปัญญาสามารถที่จะรู้ความต่างกัน ของกุศลจิตและอกุศลจิต แล้วยังต้องรู้เหตุที่กุศลจิตเกิดว่าเพราะอะไร เพราะว่าคนเราที่ไม่คิดนี้ไม่มี คิดทุกคน แต่ว่าคิดเป็นกุศล หรือว่าคิดเป็นอกุศล คิดประกอบด้วยปัญญา หรือว่าไม่ประกอบด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น เวลาที่คิดเป็นอกุศล ขณะนั้นก็จะอบรมหรือเปล่า  ถ้าไม่รู้ก็อบรมไป คือ ขณะนั้นทำให้โลภมูลจิตเพิ่มขึ้น ต้องการเพิ่มขึ้น  ต้องการที่จดจ้องโดยการที่ไม่ได้ละคลายเลย  
     ปัญญาของสมถภาวนากับวิปัสสนาภาวนา เป็นปัญญาที่ต่างขั้น แต่ต้องเป็นปัญญา เพราะว่าปัญญาของสมถะ สามารถที่จะรู้ความต่างของกุศลจิต และอกุศลจิต และรู้ว่าเมื่อตรึก ระลึกถึงสิ่งใด จิตจะค่อย ๆ สงบจากอกุศลจนเพิ่มกำลังขึ้น แต่ต้องรู้ลักษณะที่ต่างกันของกุศลจิต และอกุศลจิต ถ้ากำลังจดจ้องต้องการ ในขณะนั้นไม่ใช่ปัญญา แล้วก็เป็นโลภะด้วย เพราะฉะนั้นก็ไม่ได้ละอกุศล กุศลก็เจริญไม่ได้ แต่เข้าใจว่าขณะนั้นเป็นกุศลได้ เพราะว่าเข้าใจผิด
     ด้วยเหตุนี้ จึงต้องมีปัญญาต่างขั้น คือ ปัญญาของสมถะนั้น เพียงสามารถที่จะอบรมกุศลจิตให้เจริญ ให้ตั้งมั่น แต่แม้กระนั้นก็ไม่สามารถจะละความเป็นตัวตนหรือความเป็นเราได้ นอกจากสติปัฏฐานวิปัสสนาภาวนา แล้วไม่มีทางอื่นที่จะทำให้ละการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน   
    แม้แต่คำที่ว่า ละเสีย อย่ายึดมั่น ก็เป็นสิ่งที่เพียงฟัง แต่เมื่อไม่ได้แสดงหนทางอบรมเจริญปัญญา ก็ไม่สามารถที่จะละได้ เพราะว่าแม้สมถภาวนา จิตที่สงบยังละความเป็นตัวตนไม่ได้.

You may also like

Leave a Comment

ช่องทางติดตามข่าวสาร

Copyright @2024  All Right Reserved – Buddhawisdomfoundation Buddhawisdom

-
00:00
00:00
Update Required Flash plugin
-
00:00
00:00