Home » เป็นผู้มีปรกติเจริญสติ

เป็นผู้มีปรกติเจริญสติ

( Somboon )

by Pakawa

ในมหาสติปัฏฐานสูตร จะมีข้อความที่กล่าวไว้ทุกบรรพว่า “เป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน” ถ้าทิ้งคำว่า “ปกติ” ก็ไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพความเป็น “อนัตตา” ของธรรมที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น การที่จะเป็นผู้ที่รู้จริง คือรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ตามปกติ ตามความเป็นจริง

เป็นผู้มีปรกติเจริญสติ

ถ้าไม่มีความเข้าใจถูก มั่นคงตามลำดับ แล้วได้ยินคำว่า “สติปัฏฐาน” ก็คิดว่าจะต้องไปทำ หรือว่าทำแล้ว ปัญญาจะเกิด แต่จริงๆ แล้วทั้งหมดของพระธรรม “เพื่อให้เกิด ความเข้าใจถูก เห็นถูกตามลำดับขั้นในสิ่งซึ่งกำลังปรากฏ” ถ้ามีการพูดเรื่องสติปัฏฐาน แล้วก็มีการเชิญชวนให้มีการปฏิบัติ แล้วก็ คิดว่าอย่างนั้นเป็นสติ อย่างนี้เป็นสติ อย่างนี้เป็นกาย ต้องรู้ที่กาย อย่างนี้เป็นความรู้สึก ต้องรู้ที่ความรู้สึก นั่นไม่ใช่ความเข้าใจถูก คงไม่ลืมในมหาสติปัฏฐานสูตร จะมีข้อความที่กล่าวไว้ทุกบรรพว่า “เป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน” ถ้าทิ้งคำว่า “ปกติ” ก็ไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพความเป็น “อนัตตา” ของธรรมที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น การที่จะเป็นผู้ที่รู้จริง คือรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ตามปกติ ตามความเป็นจริง
   การอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้สภาพธรรมะตามความเป็นจริง เท่าที่เราเรียนมาทั้งหมด เรื่องกรรมเรื่องวิบาก ซึ่งเป็นผลของกรรม เรารู้จักแต่ชื่อ แต่จริงๆ แล้วทุกอย่างที่ทรงแสดงต้องเป็นสิ่งที่มีจริงๆ ซึ่งพิสูจน์ได้
เพราะฉะนั้น ถ้าสติปัฏฐานเกิด ก็จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมะที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้จริงๆ เช่นขณะที่กำลังเห็น มีจริงๆ แล้วก็สภาพธาตุรู้ที่เห็น ก็เป็นนามธรรมซึ่งไม่มีใครจะบังคับบัญชาได้ เพราะฉะนั้น เวลาที่เห็นแล้ว เกิดความติดข้องหรือว่าเกิดปัญญา หรือว่าเกิดโทสะ หรือจะเกิดอะไรติดตามมาก็แล้วแต่ ผู้นั้นขณะนั้น เมื่อทราบว่าลักษณะนั้นเป็นสภาพนามธรรมต่างชนิด เพราะขณะนี้ที่กำลังเห็น จริงๆ แล้วเป็นธาตุรู้เท่านั้น คือเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ว่าไม่ได้ชอบหรือชังในสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ไม่ใช่ว่าชอบหรือชังไม่มี หลังจากเห็น
ฉะนั้น เมื่อสติสามารถที่จะรู้ลักษณะของนามธรรม ต่างชนิด ก็สามารถที่จะรู้ได้โดยไม่เข้าใจว่าเป็นแต่เพียงชื่อ แต่ว่าสภาพจริงๆ นั้นมี คือ สภาพเห็นเป็นธาตุชนิดหนึ่ง แต่ว่าเมื่อเห็นแล้ว แต่ละคนสะสมมาต่างกัน คนหนึ่งเป็นอกุศลประเภทโลภะ อีกคนหนึ่งเป็นอกุศลประเภทโทสะ อีกคนหนึ่งอาจจะเป็นกุศลประเภทเมตตา หรือกรุณาก็แล้วแต่ ฉะนั้น ก็จะเห็นความต่างกันได้ว่า สำหรับทางตาซึ่งเห็น หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย มีเหตุปัจจัยก็เกิด แล้วก็เป็นนามธรรมประเภทซึ่งไม่ใช่กุศลหรืออกุศล ดังนั้นจึงรู้ความต่างกันว่าจิตมีหลายประเภท ไม่ใช่มีแต่เฉพาะจิตที่เป็นกุศล อกุศล เท่านั้น แต่จิตที่เป็นวิบาก ซึ่งเป็นผลของกรรมก็มี ชื่อว่าเป็นผู้ที่รู้กรรมและผลของกรรม ซึ่งเป็นนามธรรมต่างชนิดในขณะนั้น
   จุดมุ่งของการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เพื่อปัญญารู้ในลักษณะของสภาพธรรมะที่กำลังปรากฏ ที่เป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรม จนกระทั่งไม่มีเรา สามารถที่จะดับความเห็นที่เคยยึดถือสภาพธรรมะนั้นๆว่า เป็นเราเห็น เป็นเราได้ยิน เพราะรู้ในลักษณะที่เป็นนามธาตุที่เห็น หรือนามธาตุที่ชอบ หรือนามธาตุอื่นๆ ซึ่งเกิดต่างชนิดกัน ซึ่งเราจะต้องศึกษา ระลึก ก็จะรู้ชัดในลักษณะที่เป็นนามธรรมทั่วขึ้น เพราะว่านามธรรมทั้งนั้น ตั้งแต่เกิดจนตาย ที่กำลังเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง รูปก็ปรากฏทางตาทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็มีเท่านี้ ก็คือ นามธรรมกับรูปธรรม
 ความเข้าใจถูกว่า ปัญญารู้อะไร สภาพธรรมะที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เป็นสิ่งที่ปัญญารู้และละได้ เพราะฉะนั้น กว่าที่จะสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ พร้อมกับปัญญาที่เกิดจากการฟัง การศึกษาที่จะทำให้สามารถค่อยๆ เข้าใจในลักษณะ ซึ่งเป็นธาตุแท้ๆ ของนามธรรมและรูปธรรมได้ ค่อยๆ เพิ่มขึ้น
   เรื่องของการเจริญเติบโตของปัญญา เป็นเรื่องที่ไม่เร็ว แล้วก็เป็นเรื่องช้าด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้น จะมีความสงสัยอยู่เสมอว่า ปัญญารู้อะไร เมื่อไร แต่ความจริงในขณะที่กำลังฟังแล้วเข้าใจ เป็นจุดเริ่มต้นของปัญญาที่จะค่อยๆ เจริญขึ้น ถ้าเรายังเป็นห่วงกังวลถึงผลข้างหน้า จะทำให้เราไม่เข้าใจจริงๆ ว่าแท้ที่จริงแล้วขณะใดที่มีความเข้าใจเกิดขึ้น ขณะนั้นปัญญากำลังค่อยๆ เจริญขึ้น แล้วปัญญาที่เจริญขึ้นก็จะนำไปสู่สติปัฏฐาน คือ การระลึกลักษณะของสภาพธรรมะซึ่งขณะนั้นปัญญาที่ได้ฟังมาแล้วว่า ไม่ใช่ตัวตน ก็จะทำให้ไม่ตื่นเต้น ไม่เดือดร้อน ไม่กระวนกระวาย เมื่อสติเกิด ก็ค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมะที่กำลังปรากฏ เท่านั้นเอง ไปเรื่อยๆ หมายความว่า “ความเป็นผู้มีปกติ” คำนี้ก็แสดงว่าต้องสำคัญมากๆ.

You may also like

Leave a Comment

ช่องทางติดตามข่าวสาร

Copyright @2024  All Right Reserved – Buddhawisdomfoundation Buddhawisdom

-
00:00
00:00
Update Required Flash plugin
-
00:00
00:00