Home » อภัยทาน

อภัยทาน

( Somboon )

by Pakawa

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ทำให้ผู้ฟัง ผู้ศึกษา ผู้เป็นพุทธศาสนิกชน ผู้ที่เป็นพุทธบริษัทเกิดปัญญาของตนเองนี่คือประโยชน์สูงสุดที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมอบให้

#อภัยทาน

     การให้อภัย หรือ อภัยทาน สำหรับคำว่า ภัย คือ สิ่งที่นำมาซึ่งความน่ากลัว อภัย คือ ความไม่มีภัย ความไม่มีความน่ากลัว ไม่นำมาซึ่งสิ่งไม่ดี  ดังนั้น ให้อภัย หรือ อภัยทาน จึงเป็นการให้ความไม่มีภัย คือ ให้ความไม่น่ากลัว ให้ความไม่มีโทษ ดังนั้น การให้อภัย อภัยทานจึงเป็นการให้ที่ไม่ใช่วัตถุสิ่งของ แต่เป็นการให้ที่เกิดจากกุศลจิตของผู้ให้ เมื่อเกิดกุศลจิต ที่จะงดเว้นจากบาปมีการไม่ฆ่า เป็นต้น ขณะนั้นก็ให้ความไม่มีภัย ให้ความไม่น่ากลัว กับสัตว์อื่น ทำให้สัตว์อื่นปลอดภัยจากการกระทำของตนเองที่เกิดจากกุศลจิต กุศลขั้นศีล ๕ เป็นต้น ที่เป็นการงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม เป็นต้น ก็ชื่อว่า อภัยทาน 
     อภัยทาน อีกนัยหนึ่ง คือ ความไม่โกรธ ผู้อื่น เมื่อได้รับสิ่งที่กระทบทางตา หู กาย อันสมมติว่าเป็นการกระทำของผู้อื่น เมื่อไม่โกรธ ก็ให้ความไม่มีภัย กับผู้นั้น เพราะภัยสิ่งที่น่ากลัว มาจากกิเลส หากไม่มีกิเลสก็จะไม่นำมาซึ่งความน่ากลัว การกระทำที่ไม่ดี ไม่ได้เลย เมื่อไม่โกรธ ก็ให้อภัย คือ ไม่มีภัย กับผู้อื่นในขณะนั้น เพราะไม่มีการกระทำทางกายที่ไม่ดี ไม่มีการกระทำทางวาจาที่ไม่ดี อันมีเหตุมาจากความโกรธ ที่เป็นภัย อภัยทานจึงสูงกว่า มีอานิสงส์มากกว่า อามิสทาน เพราะอภัยทานเป็นการให้ ที่สละยากกว่า เพราะเกิดจากกุศลจิตขั้นศีล ที่งดเว้นจากบาป ไม่ใช่ เป็นการสละวัตถุภายนอกที่เป็นรูปธรรม อันเป็นอามิสทาน
การให้อภัยอย่างแท้จริง ตามที่กล่าวแล้ว ให้อภัย คือให้ความไม่มีภัยกับผู้อื่น คือให้ความไม่น่ากลัวกับผู้อื่น ขณะใดที่ไม่ทำร้ายเขาทางกาย วาจา งดเว้นจากการกระทำเหล่านั้น ขณะนั้นเป็นการให้อภัยอย่างแท้จริง ในกุศลขั้นศีล ที่งดเว้นจากการล่วงศีล ๕ อันเป็นจิตที่เป็นกุศลในขณะนั้น และขณะที่ให้อภัยที่แท้จริง อีกนัยหนึ่ง คือเมื่อใดที่โกรธแล้ว ก็คิดได้ด้วยกุศล ก็ไม่โกรธ บุคคลอื่น จึงไม่คิดไม่ดีกับผู้อื่น เมื่อนั้นก็ชื่อว่าให้อภัยอย่างแท้จริง ในกุศลขั้นคิดพิจารณาถูกต้องที่คิดที่จะไม่โกรธเขาอีกด้วยกุศล ไม่ใช่ด้วยความจำทน เพราะ เขามีอำนาจ
     การให้อภัยอย่างสูงสุด คือ กิเลสของตนเอง เป็นภัย เป็นศัตรู เป็นสิ่งที่น่ากลัว คนอื่นไม่ใช่ภัยที่แท้จริง เพราะ สิ่งที่ทำร้ายใจของตนเองได้ ที่แท้ คือกิเลสที่เกิดขึ้นในจิตใจ ดังนั้น การให้ความไม่มีภัย อันเป็นอภัยทานอันสูงสุด ก็สามารถกล่าวได้ว่า การละความไม่มีภัย คือการละกิเลสของตนเองทีเกิดขึ้น ขณะใดก็ชื่อว่า ไม่มีภัย คือกิเลสในขณะนั้น ขณะที่ให้ทาน ทำบุญประการต่างๆ ก็ชื่อไม่มีภัย คือ กิเลสเกิดขึ้น เพราะ จิตเป็นกุศล แต่ยังไม่พ้นจากภัย คือการเกิด ไม่พ้นจากภัย คือกิเลสที่สะสมอยู่ในจิตใจอยู่ การให้อภัยที่สูงสุด คือการละ สิ่งที่เป็นภัย เป็นศัตรูในจิตใจจนหมดสิ้น จึงกล่าวได้ว่า ปัญญาที่ดับกิเลสหมดสิ้นแล้ว ถึงความเป็นพะรอรหันต์เป็นการให้อภัย ให้ความไม่มีภัยกับจิตใจของตนเอง เพราะละกิเลสที่เป็นภัยได้จนหมดแล้วนั่นเอง
ขณะที่ให้อภัยแล้วคือ ให้ความไม่มีภัยกับตนเองก่อนเลยในขณะนั้นคือ เป็นกุศลจิตที่คิดที่จะไม่โกรธคนอื่น  คิดที่จะไม่ทำร้ายคนอื่น ทางกาย วาจา ไม่คิดที่จะฆ่า ไม่คิดที่จะลักขโมย เป็นต้น ขณะนั้น ก็ให้อภัย ให้ความไม่น่ากลัวกับตนเอง คือ ละกิเลสที่เคยเกิดแล้วที่เคยโกรธ และให้อภัยกับผู้อื่นที่ไม่คิดจะให้สิ่งไม่ดีกับเขา ใจของตนเองที่จะรู้และ จะรู้จิตของตนเองได้อย่างไรว่า ให้อภัยแล้ว ก็ด้วยปัญญาที่รู้ว่า จิตเป็นกุศลหรือไม่ และ ไม่โกรธแล้ว แต่ไม่โกรธด้วยจิตอะไร  ถ้าไม่โกรธ แต่ ยังขุ่นเคืองใจ อดทนอยู่ ก็ไม่ได้ให้อภัยจริงๆ แต่ไม่โกรธ แต่เกิดจิตที่เป็นกุศลแทน คือ ความมีเมตตา หวังดี อย่างนี้ เป็นการให้อภัยแล้ว ซึ่งปัญญาของตนเองเท่านั้นที่จะรู้ได้
      ซึ่งสิ่งเหล่านี้ จะรู้ได้ก็ด้วยการศึกษาพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นสำคัญ พระธรรมที่ได้ศึกษาและเกิดปัญญาแล้ว ย่อมนำมาซึ่ง ความเข้าใจถูก ความเข้าใจถูกย่อมทำให้คิดถูก เมื่อคิดถูก กาย วาจา ก็ดี และ คิดให้ให้อภัย แม้เกิดอกุศล เกิดความโกรธขึ้น ไม่มีตัวเรา พยายามที่จะละกิเลสได้  หากไม่ได้ศึกษาพระธรรม แต่ปัญญาที่เกิดจากการศึกษาพระธรรม ย่อมปรุงแต่งให้ละกิเลสได้ และเจริญขึ้นของกุศลไปตามลำดับ.

ธรรมไม่ใช่อยู่ที่อื่น แท้ที่จริงแล้ว ในชีวิตประจำวัน ทุกขณะที่กำลังปรากฎตามปกติ ตามความเป็นจริงเป็นสภาพธรรม ไม่ต้องไปแสวงหาธรรมที่อื่น ขณะนี้ เดี๋ยวนี้สภาพธรรมกำลังปรากฎ

#เดือดร้อนในสิ่งที่ไม่มี

พระพุทธองค์ตรัสว่า “คนพาลย่อมเดือดร้อนว่า บุตรทั้งหลายของเรามีอยู่ ทรัพย์ของเรามีอยู่ ตนแลย่อมไม่มี บุตรทั้งหลายจักมีแต่ที่ไหน ทรัพย์จักมีแต่ที่ไหน”
พระธรรมจากพระไตรปิฎก เรื่อง อานนทเศรษฐี คาถาธรรมบท เล่ม ๔๑
เรื่องย่อมีดังนี้ อานนทเศรษฐี มีทรัพย์มาก แต่ตระหนี่ ไม่ให้ทรัพย์แก่ใครๆ เลย สอนบุตรให้ไม่ให้ทาน หาแต่เงินแต่ทรัพย์ ไม่ทำบุญกุศลใดๆ ทั้งสิ้นไม่บอกขุมทรัพย์ที่ฝังไว้กับบุตร เมื่อตายไปเกิดเป็นลูกของคนจัณฑาล มีหน้าตาแปลกประหลาด เหมือนปีศาจ พอโตขึ้นไปเป็นเด็กขอทานเที่ยวไปตามที่ต่างๆ คนเดียว ระลึกชาติได้ว่าตนเคยเป็น อานนทเศรษฐี จึงเข้าไปในเรือนของลูกตัวเอง คนตกใจไล่เด็กอดีตชาติอานนทเศรษฐีออกมา
พระพุทธเจ้าทรงเห็นเหตุการณ์ตรัสกับพระอานนท์ว่า เห็นเด็กคนนั้นไหม ตรัสให้เรียกเด็กคนนั้นมา และตรัสให้เรียกบุตรเศรษฐี ซึ่งเป็นบุตรของอานนทเศรษฐีมา ตรัสว่า เด็กหน้าตาน่ากลัวคนนั้นเป็นบิดาของท่าน เขาไม่เชื่อ พระองค์จึงให้เด็กคนนั้นบอกที่ฝังขุมทรัพย์ จนบุตรเศรษฐีเชื่อ และพระองค์ได้ตรัสพระคาถาที่แสดงความจริงว่า คนพาลในโลกนี้ เดือดร้อนเพราะทรัพย์ และบุตร เพราะยึดถือด้วยความเป็นเรา ว่าเป็นของๆ เรา และไม่ทำกุศล ทำแต่อกุศล บาปกรรม และสุดท้ายก็จากสิ่งเหล่านั้นไปด้วยกิเลสที่ติดข้อง จนทำให้เกิดเป็นลูกจัณฑาลมีหน้าตาแปลกประหลาด พระองค์ได้ตรัสพระคาถาตอนจบว่า
“คนพาลย่อมเดือดร้อนว่า บุตรทั้งหลายของเรามีอยู่ ทรัพย์ของเรามีอยู่ ตนแลย่อมไม่มี บุตรทั้งหลายจักมีแต่ที่ไหน ทรัพย์จักมีแต่ที่ไหน”
ความจริงของสัจจะนั้นมีแต่ธรรม ที่เป็น จิต เจตสิก รูป แต่เมื่อประชุมรวมกัน เป็นขันธ์ จึงสมมติว่าเป็นเรา เป็นสิ่งต่างๆ แต่แท้ที่จริง มีแต่ธรรม ตนก็ไม่มี มีแต่ธรรม ที่เกิดขึ้นเป็นไป บุตรไม่มีโดยปรมัต เพราะมีแต่ธรรม คือ จิต เจตสิก รูป แต่สมมติเรียกว่าเป็นบุตร ทรัพย์ก็ไม่มี มีแต่สภาพธรรมที่ปรากฎ ปรากฎทางตา แข็ง อ่อน เป็นต้น ไม่พ้นจากความเป็นรูปธรรม เมื่อตนไม่มี มีแต่ธรรม ทรัพย์ บุตร สิ่งต่างๆจะมีแต่ที่ไหน
แต่คนพาล พาลคือมืดบอด จากความไม่รู้ ก็ย่อมยึดถือว่าเป็นเรา เป็นสัตว์บุคคล มีสิ่งต่างๆ เมื่อยึดถือก็ย่อมเดือดร้อน เดือดร้อนในสิ่งที่ไม่มี คือ ยึดถือว่ามีสัตว์บุคคล มีทรัพย์ ทั้งๆที่ไม่มี มีแต่ธรรมที่เกิดขึ้นและดับไปไม่เหลือเลย เมื่อเดือดร้อนก็กระทำกรรมในสิ่งที่ไม่สมควร ก็ย่อมเศร้าโศกและไม่พ้นไปจากทุกข์และไม่พ้นจากสังสารวัฏฏ์
พระธรรมเป็นเครื่องเตือนให้สัตว์โลกรู้ความจริงว่า ขณะนี้ก็มีแต่ธรรมไม่ใช่เรา อยู่กับโลกสมมติ ที่บัญญัติชื่อให้เข้าใจว่าเป็นบุตร เป็นทรัพย์ เป็นสิ่งต่างๆ เพื่อประพฤติตามสิ่งที่สมมติทางโลกได้เหมาะสม พร้อมๆกับการเข้าใจความจริงว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา อันเป็นหนทางเดียวที่จะละกิเลส ละทุกข์ได้จนหมดสิ้น เพราะฉะนั้นการศึกษาพระธรรม อบรมปัญญาเพื่อเข้าใจว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา อนัตตา.

You may also like

Leave a Comment

ช่องทางติดตามข่าวสาร

Copyright @2024  All Right Reserved – Buddhawisdomfoundation Buddhawisdom

-
00:00
00:00
Update Required Flash plugin
-
00:00
00:00