Home » ศรัทธากับความเชื่อ

ศรัทธากับความเชื่อ

( Somboon )

by Pakawa

ศรัทธาเป็นสภาพธรรมฝ่ายดีจะไม่เกิดกับอกุศลจิต จึงไม่อาจกล่าวได้เลยว่าผู้มีศรัทธามากแต่ขาดปัญญาจะเป็นความงมงาย ซึ่งเป็นอกุศล แต่ขณะใดที่มีความเชื่อในหนทางที่ถูกอันเกิดจากความเข้าใจถูก ขณะนั้นมีศรัทธา เพราะเป็นจิตที่เป็นกุศล เมื่อกุศลเกิดย่อมมีศรัทธา เกิดร่วมด้วยเสมอ

ศรัทธากับความเชื่อ

ศรัทธา ในคำสอนทางพระพุทธศาสนานั้น เป็นธรรมฝ่ายดี (โสภณธรรม) ที่เกิดร่วมกับจิตที่ดีงาม คือจิตที่ไม่มีกิเลสเกิดร่วมด้วย ศรัทธาเป็นสภาพธรรมที่ผ่องใส ไม่ขุ่นมัวเป็นไปในทาน เป็นไปในศีล เป็นไปในการอบรมความสงบของจิต และการอบรมเจริญปัญญา จะไม่เกิดร่วมกับอกุศลจิต และ สัทธา หรือศรัทธา เป็นสภาพธรรมที่ผ่องใส ศรัทธาเป็นปรมัตถธรรม เป็นเจตสิกที่เกิดร่วมกับโสภณจิตทุกประเภท ศรัทธาจึงเปรียบเหมือนสารส้มหรือแก้วมณีที่ทำให้น้ำใสสะอาดไม่ขุ่นมัว เพราะเหตุว่าเมื่อศรัทธาเจตสิกเกิดขึ้น อกุศลธรรมทั้งหลายซึ่งเปรียบเหมือนกับโคลนตมย่อมจมลง คือเกิดขึ้นไม่ได้ ดังนั้น เมื่อศรัทธาเกิดขึ้น อกุศลธรรมประการต่างๆ จะเกิดร่วมไม่ได้เลย เพราะศรัทธาเป็นธรรมฝ่ายดีจะไม่เกิดร่วมกับอกุศลจิต
     ลักษณะของศรัทธาในพระไตรปิฎกแสดงลักษณะไว้ ๒ อย่างคือ
       ๑. มีความเลื่อมใสเป็นลักษณะ
       ๒. มีการข่มนิวรณ์คือข่มกิเลสทำให้จิตผ่องใสเป็นลักษณะ
   ศรัทธามีความเลื่อมใสเป็นลักษณะ จึงต้องมีวัตถุให้เลื่อมใส วัตถุนั้นต้องเป็นสิ่งที่ดีเช่น เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า เลื่อมใสในพระธรรม เลื่อมใสในพระสงฆ์ แต่การใช้คำว่าเลื่อมใสในสิ่งที่ไม่ดี เช่น เลื่อมใสในบุคคลที่เห็นผิด เลื่อมใสในความเชื่อ  ความเห็นที่ผิด แต่ไม่ใช่ลักษณะของศรัทธาเพราะว่า ความหมายศรัทธาประการที่สองคือต้องเป็นจิตที่ผ่องใสจากกิเลส แต่การใช้ภาษาว่าเลื่อมใส แต่ในสิ่งที่ผิดเป็นอกุศลไม่ใช่กุศล ดังนั้น จึงไม่ใช่ศรัทธาเพราะศรัทธาเจตสิกจะไม่เกิดกับจิตที่เป็นอกุศล แสดงให้เห็นว่าลักษณะศรัทธามีสองประการตามที่กล่าวมาและต้องประกอบกัน เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นขณะที่มีความเชื่อในแนวคิด ปรัชญาหรือในหลักการเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไม่ได้หมายความว่ามีศรัทธาในเรื่องนั้นเพราะขณะนั้นจิตเป็นอกุศล คือพอใจติดข้องในความเห็นนั้นคือเป็นโลภะ ซึ่งศรัทธาจะไม่เกิด กับอกุศลจิต ในทำนองเดียวกัน หากมีความเชื่อในหนทางที่ผิด ในความเชื่อที่ผิด จะกล่าวว่ามีศรัทธาแต่ไม่มีปัญญาก็ไม่ได้ เพราะขณะนั้นมีความเชื่อ พอใจในความเห็นที่ผิดจึงเป็นโลภะที่ประกอบด้วยความเห็นผิด เป็นอกุศลจิต
     ความเชื่อ ก็คือการคิดนึก ที่เป็นจิต เจตสิก ดังนั้นการคิดนึก ที่เป็นความเชื่อ ก็มีทั้งที่เป็น จิตที่เป็นกุศล หรือ อกุศล ความเชื่อ หรือแนวคิดก็มีทั้งที่เป็นกุศล และ อกุศลซึ่งแนวคิดที่เป็นกุศล คือ แนวคิดความเชื่อที่เป็นความเห็นถูก ที่ถูกต้อง กับ แนวคิดความเชื่อที่เป็นความเห็นผิด คือไม่ถูกต้อง ดังนั้น จึงมีความเชื่อใหญ่ อยู่ ๒ ประการเท่านั้น ไม่ว่าจะมีความเชื่อในโลกนี้เท่าไหร่ก็ตาม ก็ไม่พ้นจากความเชื่อ หรือแนวคิด คำสอน คือความเชื่อ ที่เป็นความเห็นถูก และความเชื่อที่เป็นความเห็นผิด แต่เราก็ต้องตีความให้ถูก กับ ความเชื่อที่เป็นความเห็นถูก และความเชื่อที่เป็นความเห็นผิด ความเชื่อที่เป็นความเห็นผิด ก็เป็นเพียงความคิดที่ไม่ตรง และ ไม่ใช่เชื่อด้วยศรัทธา ที่เป็น เจตสิกฝ่ายดี แต่เชื่อด้วย โลภะมูลจิตที่ประกอบด้วยความเห็นผิดนั่นเอง ส่วน ความเชื่อที่เป็นความเห็นถูก เชื่อเพราะปัญญาเกิด คือเป็นมหากุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา คือ เมื่อปัญญาเกิดรู้ความจริง ก็เชื่อด้วยศรัทธา ด้วยกุศลจิตเพราะมีปัญญาความเห็นถูกเกิดร่วมด้วย ดังนั้น ความเชื่อ แม้จะเป็นคำกลางๆ แต่ความเชื่อที่เกิดขึ้นนั้น ก็เกิดได้ด้วย จิต เจตสิก และแตกต่างกัน ตามปัญญาที่เกิด หรือความเห็นผิดที่เกิด ทำให้มีความเชื่อที่เป็นความเห็นถูกและความเชื่อที่เป็นความเห็นผิด
ศรัทธาเป็นสภาพธรรมฝ่ายดีจะไม่เกิดกับอกุศลจิต จึงไม่อาจกล่าวได้เลยว่าผู้มีศรัทธามากแต่ขาดปัญญาจะเป็นความงมงาย ซึ่งเป็นอกุศล แต่ขณะใดที่มีความเชื่อในหนทางที่ถูกอันเกิดจากความเข้าใจถูก ขณะนั้นมีศรัทธา เพราะเป็นจิตที่เป็นกุศล เมื่อกุศลเกิดย่อมมีศรัทธา เกิดร่วมด้วยเสมอ
เพราะฉะนั้นศรัทธายิ่งมากยิ่งดี เพราะศรัทธาเป็นธรรมฝ่ายดี แต่ศรัทธาที่ชาวบ้านใช้กัน แท้ที่จริง เป็นเพียงความเชื่อ เลื่อมใส ที่เป็นอกุศลก็ได้ เช่น ศรัทธาพระรูปนี้ ดังนั้น เชื่อเลื่อมใสที่เป็นอกุศล มีโทษ ที่ไม่ใช่ศรัทธาในพระพุทธศาสนา แต่ใช้คำว่า ศรัทธา จึงไม่ถูกต้อง.

You may also like

Leave a Comment

ช่องทางติดตามข่าวสาร

Copyright @2024  All Right Reserved – Buddhawisdomfoundation Buddhawisdom

-
00:00
00:00
Update Required Flash plugin
-
00:00
00:00