Home » วิเวก ๓

วิเวก ๓

( Sonboon )

by Pakawa

พระพุทธองค์ทรงแสดงหนทางในการอบรมปัญญา เพื่อว่าไม่ว่าอยู่ที่ไหน มีสภาพธรรมก็สามารถแทงตลอด ปัญญาเกิดละกิเลสได้ในขณะนั้น ซึ่งก็มีตัวอย่างในพระไตรปิฎก ที่มีผู้ที่บรรลุธรรม ท่ามกลางบริษัท ในขณะที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรม แต่ทรงแสดงกายวิเวก สำหรับผู้ที่มีอัธยาศัยอย่างนั้น เท่านั้น

วิเวก ๓

วิเวก หมายถึง ความสงัด ความสงัดที่ว่านี้ไม่ได้หมายถึงสถานที่ แต่เป็นสภาพจิตที่สงัดจากอกุศล  สงัดจากกิเลส ความสงัดที่เป็นวิเวก มี ๓ อย่างคือ กายวิเวก จิตวิเวก และ อุปธิวิเวก
    ๑. กายวิเวก คือ ความสงัดทางกาย ในที่นี้คือเป็นผู้หลีกออกจากหมู่ เป็นผู้ผู้เดียวเที่ยวไปแต่ข้อที่สำคัญที่สุดคือ กายวิเวกเป็นเรื่องของการเห็นโทษ ด้วยปัญญา ในการที่จะต้องอยู่กับผู้คนมาก เห็นคุณในการอยู่ผู้เดียว จึงเป็นผู้มีปัญญา มีความเข้าใจพระธรรม และเห็นโทษของการคลุกคลีด้วยหมู่ จึงเป็นผู้หลีกออกจากหมู่ผู้เดียว ด้วยปัญญา ด้วยความเข้าใจ ดังนั้นไม่ได้หมายความว่าผู้ที่จะอบรมปัญญา ต้องเป็นผู้หลีกออกจากหมู่แต่ผู้เดียว เที่ยวไปผู้เดียว แต่เป็นเรื่องของอัธยาศัยของบุคคลนั้น ว่าเป็นผู้มีอัธยาศัยหลีกผู้เดียว หรือไม่มีอัธยาศัย หรือกำลังที่จะเป็นผู้มีกายวิเวก แต่สำคัญที่สุดคือการมีปัญญา เข้าใจหนทางในการดับกิเลส ย่อมเป็นทางที่จะทำให้เข้าใจความจริงของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ ซึ่งสภาพธรรมไม่ได้เลือกเลยว่าจะเกิดตอนอยู่ผู้เดียว หรืออยู่กับผู้คนมากมาย ดังนั้นหากเข้าใจหนทางในการอบรมปัญญาแล้ว ย่อมทำให้ไม่ว่าอยู่ที่ใด อยู่ผู้เดียวด้วยกายวิเวก หรืออยู่กับสิ่งต่างๆ มากมาย ปัญญาก็สามารถเกิดรู้ความจริงได้ เพราะได้สะสมปัญญามานั่นเอง
    พระพุทธองค์ ไม่ได้ให้ภิกษุทั้งหลาย หรืออุบาสก อุบาสิกา เป็นผู้หลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว เป็นกายวิเวก แต่พระองค์ทรงแสดงหนทางในการอบรมปัญญา เพื่อว่าไม่ว่าอยู่ที่ไหน มีสภาพธรรมก็สามารถแทงตลอด ปัญญาเกิดละกิเลสได้ในขณะนั้น ซึ่งก็มีตัวอย่างในพระไตรปิฎกมากมายที่มีผู้ที่บรรลุธรรม ท่ามกลางบริษัท ในขณะที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรม
    ๒. จิตวิเวก คือขณะที่จิตสงบจากกิเลส ฌานจิตขั้นต่างๆ สูงสุดคือขณะที่ได้ฌาน เป็นสมบัติ ๘ หรือแม้ขณะที่รู้ความจริงของสภาพธรรมนั้น ก็เป็นจิตวิเวก เช่นกัน
    ๓. อุปธิวิเวก อุปธิ นี้ได้แก่ สภาพที่ทรงไว้ซึ่งทุกข์ทั้ง ๔ คือ กิเลส ขันธ์ กาม และ อภิสังขาร (เจตนา) ซึ่งไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่เป็นสังขารธรรมทั้งหมด ดังนั้น อุปธิวิเวก คือสภาพธรรมที่สงัดจากสิ่งที่เป็นไปในทุกข์ เป็นไปในกิเลส อุปธิวิเวก จึงเป็นความสงัดจากสังขารธรรม สงัดจากกิเลสธรรม และสภาพธรรมทุกอย่าง คือ พระนิพพาน นั่นเอง
    การฟังพระธรรม การอบรมปัญญา ย่อมเป็นทำให้เป็นผู้มีความเห็นถูกและทำให้เข้าใจในการอบรมปัญญา แม้แต่ในเรื่องวิเวก ความสงัด ไม่ใช่จะต้องเป็นผู้หลีกออกจากหมู่ผู้เดียวเสมอไป แต่สำคัญที่สุดคือการอบรมปัญญา เพื่อเข้าใจหนทางที่ถูกต้อง เพราะหากไม่เข้าใจหนทางในการดับกิเลสแล้ว ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด จะผู้เดียวหรือผู้คนมากมาย ก็ไม่สามารถเข้าใจความจริงในขณะนั้น ที่เป็นเพียงสภาพธรรมไม่ใช่เราได้เลย แต่ถ้าเข้าใจหนทางในการดับกิเลสแล้วไม่ว่าอยู่ที่ใดก็สามารถเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ถึงการดับกิเลสได้ไม่ว่าที่ใด กายวิเวก จิตวิเวก และอุปธิวิเวก จึงเป็นเรื่องของปัญญาอย่างแท้จริง ซึ่งวิเวกเป็นธรรมเครื่องขัดแกลากิเลสประการหนึ่ง อันมีความเห็นถูกเป็นสำคัญ การอบรมปัญญาย่อมทำให้ถึง อุปธิวิเวก คือการดับกิเลส ถึงพระนิพพานที่สุด.

You may also like

Leave a Comment

ช่องทางติดตามข่าวสาร

Copyright @2024  All Right Reserved – Buddhawisdomfoundation Buddhawisdom

-
00:00
00:00
Update Required Flash plugin
-
00:00
00:00