Home » ร่างกายของเรา

ร่างกายของเรา

( วีระ วศินวรรธนะ )

by Pakawa

ร่างกายของเรานี้เป็น เรือนมูตร เรือนคูถ เป็นอสุภะ
จงพิจารณาร่างกายอันนี้ ให้ชำนิชำนาญ เจริญให้มาก…ทำให้มาก
ให้มีสติหรือพิจารณาในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ
ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ คิด พูด ก็ให้มี “สติ” รอบคอบในกายอยู่เสมอ
จึงจะชื่อว่า… ทำให้มาก

แบ่งส่วน แยกส่วนออกเป็น ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม พิจารณาให้เห็นไปตามนั้น
แต่อย่าละทิ้งหลักเดิมที่ตนได้รู้ครั้งแรก ให้พิจารณาก้าวเข้าไป ถอยออกมาเป็น อนุโลม ปฏิโลม
เข้าไปสงบในจิต แล้วถอยออกมา พิจารณากาย อย่าพิจารณากายอย่างเดียว หรือสงบที่จิตแต่อย่างเดียว

พิจารณาอย่างนี้ชำนาญแล้ว ทุกสิ่งรวมลงเป็นอันเดียว ญาณสัมปยุตต์ คือ รู้เกิด
จึงชื่อว่า ยถาภูตญาณ-ทัสสนวิปัสสนา คือ ทั้งเห็น ทั้งรู้ตามความเป็นจริง
ขั้นนี้เป็นเบื้องต้น ในอันที่จะดำเนินต่อไป ไม่ใช่ที่สุด

จิตรวมครั้งที่สอง สังขาร ความปรุงแต่ง อันเป็นความสมมติว่าโน่นเป็นเรา เป็นของของเรา
เป็นความไม่เที่ยง อาศัยอุปาทาน(ความยึดถือ)จึงเป็นทุกข์
อาการของจิตของขันธ์ ๕ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไปปรุงแต่งสำคัญมั่นหมาย
ทุกภพ ทุกชาติ นับเป็น อเนกชาติเหลือประมาณ มาจนถึงปัจจุบันชาติ จึงทำให้จิตหลงอยู่ตามสมมติ

ธรรมชาติทั้งหลาย มีวิญญาณหรือไม่ก็ตาม เขาหากมี หากเป็น… เกิดขึ้นเสื่อมไป มีอยู่อย่างนั้นทีเดียว
ความข้อนี้ พระพุทธเจ้าจึงทรงปฏิญาณพระองค์ว่า…
เราไม่ได้ฟังมาแต่ใคร มิได้เรียนมาแต่ใคร เพราะของเหล่านี้มีอยู่ มีมาแต่ก่อนพระองค์ ดังนี้

สังขารเป็น อาการของจิตเปรียบเหมือน พยับแดด
ส่วนสัตว์เขาก็อยู่ประจำโลก แต่ไหนแต่ไรมา ฐีติภูตํ
จิตตั้งอยู่เดิม ไม่มีอาการ เป็นผู้หลุดพ้น

สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตน (มันเป็นอนัตตา)
พิจารณาให้เห็นแจ้งประจักษ์ตามนี้ จนทำให้จิตรวมพึ่บลงไป เห็นจริงแจ้งชัดตามนั้น
จิตรวมทวนกระแส แก้อนุสัยสมมติเป็นวิมุตติ หรือรวมลงฐีติจิต อันเป็นอยู่ มีอยู่อย่างนั้น
จนแจ้งประจักษ์ในที่นั้นด้วย ญาณสัมปยุตต์ว่า ขีณา ชาติ ญาณํ โหติ ดังนี้

ในที่นี้ ไม่ใช่สมมติ ไม่ใช่ของแต่งเอา เดาเอา ไม่ใช่ของอันบุคคลพึงปรารถนาเอาได้
เป็นของที่เกิดเอง เป็นเอง รู้เอง โดยส่วนเดียวเท่านั้น

วิมฺตติธรรม มิใช่สิ่งอันบุคคลจะพึงปรารถนาเอาได้
คนผู้ปรารถนาวิมุตติธรรม แต่ปฏิบัติไม่ถูกต้องหรือไม่ปฏิบัติ มัวเกียจคร้านจนวันตาย
จะประสบวิมุตติธรรมไม่ได้เลย ด้วยประการฉะนี้

…..หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

“กลับเข้าไปข้างใน”
.
ค้นหาโลกภายในตัวคุณ

เพื่อพบกับ ‘ความรู้ตัว’

“ชีวิตที่เหลือ…แล้วไงต่อ ?”

หาเงินก็ได้มากพอแล้ว บ้านก็มีแล้ว รถก็มีแล้ว
ภาระหน้าที่การงานและการดูแลคนอื่นก็จบหมดแล้ว
สุขภาพก็ดูแลตัวเองจนโอเคแล้ว แล้วไงต่อ?
.
แต่ก็ยังมีบางอย่างที่ทำให้มนุษย์ไม่มีความสุข
สิ่งนี้ฝรั่งเรียกว่า existential suffering (ทุกข์แห่งการดำรงอยู่)
คือความโหยหาความหมายของชีวิต…
.
เอ๊ะ ข้าเกิดมาทำไมวะ เห็นแมะ
แก่จนเกษียณแล้วก็ยังไม่วายสงสัยว่าเราเกิดมาทำไม มีชีวิตอยู่เพื่ออะไร ?
ผมไม่รู้ว่าหมาแมวมันมีปัญหานี้หรือเปล่า
แต่คนมีแน่ ทุกชาติทุกภาษามีเหมือนกันหมด
.
ยังไม่นับว่าใจคนที่ยังท่องไปในโลกของความคิดซึ่งทุกสิ่งทุกอย่าง
ถูกรับรู้ในรูปของสิ่งสมมุติที่เรียกชื่อหรือบอกรูปร่างได้ด้วยภาษานี้
มันมีแนวโน้มที่จะ “เผลอ” ยึดมั่นหรือเกี่ยวพันกับสิ่งสมมุติเหล่านั้น
โดยสำคัญมั่นหมายว่ามันเป็นของจริงไม่ใช่ของสมมุติ
เช่น ความกลัวป่วย กลัวปวด กลัวตาย เป็นต้น
.
นี่ก็เป็นอีกเหตุหนึ่งของความทุกข์ซึ่งมีอยู่ในใจของแทบทุกผู้ทุกคน
ที่ถึงแม้จะหล่อ-สวย รวยทรัพย์ ปลอดโรค ปลอดภัยดีแล้วก็ตาม
……………………………………….
คำตอบของผมสำหรับคำถามนี้ก็คือ ชีวิตไม่มีคำว่าแล้วไงต่อ
.
แล้วไงต่อ? คือความคิดที่พาคุณหนีจากเดี๋ยวนี้ไปอยู่ในอนาคต
จะเป็นอนาคตช่วงที่เหลืออยู่ก่อนตาย หรืออนาคตหลังตาย
เมื่อคุณเด๊ดสะมอเร่ไปแล้วก็ล้วนเป็นอนาคตทั้งสิ้น
.
ซึ่งทั้งหมดนั้นไม่ได้มีอยู่จริง!
.
มันเป็นเพียงแค่ความคิด เวลาหรืออนาคตในใจคุณเท่านั้น
มันเป็นแค่เวลาในเชิงจิตวิทยา (psychological time)
ที่หลอกให้คุณหนีจากการใช้ชีวิตในปัจจุบันไปอยู่ในความคิด
.
คุณอย่าหลวมตัวถูกหลอกให้ไปอยู่ในความคิด
แต่ให้คุณ ‘ใช้ชีวิต ‘ ในปัจจุบันขณะ เดี๋ยวนี้
.
“อ้าว ก็ผมประสบความสำเร็จหมดแล้ว
มีทั้งเงิน บ้าน ที่ดิน ทองคำแท่งสำรอง แถมยังสุขภาพดี
และทำประกันชีวิตประกันภัยเอาไว้ เรื่องท่องเที่ยวผมก็ไปมาหมดแล้ว
ประเทศไหนที่ไหนเขาว่าสวย ๆ งาม ๆ ผมก็ไปดูมาหมดแล้ว
แล้วจะให้ผมทำอะไรดีละ ที่ว่าอยู่กับปัจจุบันเนี่ย จะให้ผมทำอะไร ?”
.
ใจเย็น ๆ ครับคุณพี่ ใจเย็น ๆ อย่าเพิ่งขึ้นเสียง ที่ผมพูดว่า ‘การใช้ชีวิต’
ผมหมายถึงการสำรวจเรียนรู้เพื่อค้นหาศักยภาพสูงสุด
ที่ตัวเองมีในฐานะที่เกิดมาเป็นคน
.
แต่ว่าอย่าหวังสูงเกินไปนะ เพราะการเป็นคนนี้
ความจริงก็คือเป็นแค่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตัวเล็ก ๆ ตัวหนึ่ง
บนดาวเคราะห์ดวงเล็ก ๆ ดวงหนึ่ง ในระบบสุริยะระบบเล็กระบบหนึ่ง
ซึ่งอยู่ที่ชายขอบของทางช้างเผือก อันเป็นดาราจักรขนาดเล็กอันหนึ่ง
ในบรรดาดาราจักรจำนวนไม่รู้กี่แสนกี่ล้านดาราจักรที่ประกอบกันขึ้นเป็นเอกภพนี้
.
สิ่งที่คุณประสบความสำเร็จเจนจบมาทั้งหมดแล้วนั้น
มันเป็นเรื่องนอกตัวนะ มันไม่เกี่ยวอะไรเลยกับการเรียนรู้
ถึงศักยภาพที่แท้จริงของตัวเองในการเกิดมาเป็นคน
.
ที่คุยว่าทำได้มาแล้วทั้งหมดนั้น สาระหลักก็คือ
การกิน ขับถ่าย นอน สืบพันธุ์ การเสาะหาที่หลบภัยให้ตัวเองอยู่รอด …
ทั้งหมดนั้นอย่าว่าแต่สัตว์ชั้นสูงอย่างคนเลย หมาแมวมันก็ทำได้
.
แต่ศักยภาพที่แท้จริงของคนนั้นมันอยู่ที่ ‘ข้างใน’ ไม่ใช่อยู่ที่ข้างนอก
.
‘ข้างใน’
ผมหมายถึงว่าคนเรานี้เมื่อวางความคิดของตัวเองแล้ว
ถอยความสนใจกลับเข้าไป ‘ข้างใน’ มันจะมีศักยภาพที่ผมเองก็เรียกไม่ถูก
ขออนุญาตใช้ภาษาอังกฤษนะ คือ ณ ข้างในตรงที่ ‘หมดความคิด’ แล้ว
คนเรามันมี insight (ญานหยั่งรู้)
.
คือมีความสามารถที่จะ ‘รู้’ จะเข้าใจ
ความเป็นไปของสรรพสิ่งได้อย่างลึกซึ้งถึงกึ๋นได้เอง
แล้วความทุกข์จากสิ่งที่เรียกว่า existential suffering
(ทุกข์แห่งการดำรงอยู่) นี้ก็จะหมดไป
………
เริ่มต้นคุณก็ต้องฝึกนั่งสมาธิ (meditation) ก่อน
ให้ฝึกนั่งมันทุกวันแหละ วันหนึ่งชั่วโมงสองชั่วโมง
ขอให้คุณทู่ซี้นั่งมันไปจนได้เรื่อง คือจนมัน ‘นิ่ง’
.
ในความ ‘นิ่ง’ ของสมาธิ ให้คุณหัดสังเกตรับรู้ (aware)
ความคิดและอารมณ์ของตัวเอง
สังเกตความคิดโดยมองเข้าไปจากข้างนอก ‘มองจิต’
จนความคิดฝ่อหายไปเองหมดเกลี้ยง
.
สังเกตรับรู้ร่างกาย สังเกตรับรู้ความเชื่อมโยงของสรรพสิ่ง
ผ่านกลไกที่อยู่นอกเหนือการนิยามหรือการบรรยายของภาษา
.
สังเกตรับรู้ความว่างเปล่าที่ ‘ความรู้ตัว’ หรือความสามารถรับรู้นี้
แทรกซึมอยู่ เพื่อทำความรู้จักกับ ‘ความรู้ตัว’
.
ผมบอกใบ้ให้ล่วงหน้าว่า…อะไรที่ถูก “ความรู้ตัว” สังเกตรับรู้ได้
ล้วนไม่ใช่ความรู้ตัว ให้ทิ้งมันไปเสีย นั่นหมายความรวมถึงความคิดด้วย
.
ท้ายที่สุดคุณก็จะเหลือแต่ ‘ความรู้ตัว’ โด่เด่
อยู่อย่างโดดเดี่ยวในความว่าง นิ่ง และเงียบ
.
ตรงนี้แหละที่เป็นปลายทาง เป็นที่ที่จะเกิด insight (ญาน)
ให้เข้าใจอะไรต่าง ๆ อย่างถึงกึ๋นได้เอง
.
เมื่อมาถึงจุดนี้แล้วตัวเราก็เหมือนจะกลายเป็นอีกคนหนึ่ง
ทั้งที่คนตัวเดิมก็ยังอยู่ แต่มีคนตัวใหม่ที่ข้างในอีกตัวหนึ่ง
ซึ่งไม่ได้มีผลประโยชน์เกี่ยวของอะไรกับคนตัวเดิมเกิดขึ้นมาซ้อน
.
เรียกว่า ‘ตัวนอก’ กับ ‘ตัวใน’ ก็แล้วกัน
.
‘ตัวใน’ มันสงบเย็นและไม่อินังขังขอบอะไร เหมือนกับว่ามันรู้อะไรหมดแล้ว
มันจึงเย็นได้ พลอยทำให้ ‘ตัวนอก’ เย็นลงไปด้วย
.
แต่ ‘ตัวนอก’ ก็ยังจะทำงานทำการสร้างสรรค์
อะไรในทางโลกได้อยู่อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง
.
ชีวิตที่เหลือก็จะดำเนินไปอย่างนี้ ทีละขณะ ทีละขณะ
สงบเย็นด้วย ทำงานในโลกได้ด้วย
.
นี่คือ ‘การย้ายตัวตน’ หรือ shift of identity ซึ่งจำเป็นต้องเกิดขึ้นก่อน
พันธกิจของชีวิตที่เกิดมาจึงจะถือว่าสำเร็จ
.
ถ้าจะถามผมว่าเวลาที่เหลืออยู่ในชีวิตก่อนตายควรทำสิ่งใดอีก?
.
ผมแนะนำว่าให้คุณทำสิ่งนี้แหละ คือ “กลับเข้าไปข้างใน”
.
สำรวจค้นหาโลกภายในโดยอาศัย insight (ญาน) พาไป
จนพบกับ ‘ความรู้ตัว’ ซึ่งเป็นเราคนใหม่ แล้วย้ายวิก
จากคนเก่าไปเป็นคนใหม่เสียอย่างน้อยก็สักเก้าส่วนในสิบส่วน
.
ก็จะมีชีวิตที่ ‘เดี๋ยวนี้’ อย่างสงบเย็นทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงใด ๆ
ที่จะเข้ามาหา แถมปลดความสงสัยตะหงิด ๆ ในใจทิ้งได้อย่างเบ็ดเสร็จ
.
ชีวิตที่เหลือจะเป็นชีวิตที่มีคุณค่าต่อโลกและต่อชีวิตอื่น
โดยที่ตัวเองก็ไม่ทุกข์ และเมื่อถึงเวลาตาย…ก็พร้อมเสมอ
.
…นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

You may also like

Leave a Comment

ช่องทางติดตามข่าวสาร

Copyright @2024  All Right Reserved – Buddhawisdomfoundation Buddhawisdom

-
00:00
00:00
Update Required Flash plugin
-
00:00
00:00