Home » มิจฉาสติ

มิจฉาสติ

( Somboon )

by Pakawa

สติ เป็นสภาพธรรม ที่เป็นกุศลเกิดกับจิตที่เป็นกุศลเท่านั้น การที่กล่าวว่า รู้ว่ากำลังทำอะไร พูดอะไร คิดอะไร นั้นเป็นสติ ก็ไม่ถูกต้อง เพาะขณะนั้นไม่เป็นไปในกุศล จึงไม่มีสติเกิด รู้ได้อย่างไรว่าเป็นกุศล ก็ลองเทียบกับบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ดู ถ้าไม่เป็นไปในข้อใดข้อหนึ่ง การรู้ว่ากำลัง ทำ ผูด คิด นั้นก็เป็นไปในอกุศลซึ่งไม่มีสติ ไม่ใช่สติ

มิจฉาสติ

เมื่อพูดถึงคำว่า สติ คนส่วนใหญ่คิดว่าเข้าใจกันว่าหมายถึงอะไร ไม่มีความสงสัย เมื่อลองเปิดพจนานุกรมไทย ดูก็จะพบความหมายของคำว่า สติ ดังนี้ สติ หมายถึง ความระลึกได้ ความนึกขึ้นได้ ความไม่เผลอ ฉุกคิดขึ้นได้ การคุมจิตไว้ในกิจ หมายถึง อาการที่จิตนึกถึงสิ่งที่จะทำจะพูดได้ นึกถึงสิ่งที่ทำคำที่พูดไว้แล้วได้ เป็นอาการที่จิตไม่หลงลืม ระงับยับยั้งใจได้ ไม่ให้เลินเล่อพลั้งเผลอ ป้องกันความเสียหายเบื้องต้น ยับยั้งชั่งใจไม่บุ่มบ่าม เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ความไม่ประมาท นี่คือความหมายของสติที่ใช้กันในภาษาไทย
คำว่า สติ มาจากภาษา บาลี ที่นำมาใช้ในภาษาไทยแต่ความหมายที่ใช้ ไม่ตรงกับสติในทางพุทธศาสนา ซึ่งมีความหมายเฉพาะเจาะจง แต่ส่วนใหญ่ก็คิดว่ารู้แล้ว และยังคงเข้าใจไปในความหมายที่ใช้กันในภาษาไทย
สติ ที่ใช้ในทางธรรม หมายถึง สติเจตสิก ทำหน้าที่ ระลึก เป็นสภาพธรรมที่ดีงาม เป็นโสภณสาธารณเจตสิก หมายความว่า เป็นเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตที่ดีงามทุกประเภท ซึ่งโสภณจิต ก็มีทั้ง กุศลจิต วิบากจิต และ กิริยาจิต สติ ซึ่งป็นสภาพธรรมฝ่ายดี จะไม่เกิดร่วมกับอกุศลจิต คือจะไม่เกิดร่วมกับ โลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น
ธรรมะ เป็นสิ่งที่มีจริง สิ่งที่มีจริงนั้น เป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น ไม่มีใครสามารถไปเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมนั้น ๆ ให้เป็นอย่างอื่นไปได้ สติ ก็เช่นเดียวกัน เป็นธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่ระลึกเป็นไปในกุศล ในทานบ้าง ศีลบ้าง ภาวนาบ้าง ในขณะที่จิตเป็นกุศล มีสติ รวมถึงเจตสิกฝ่ายดีอื่น ๆ มีสัทธา เป็นต้น เกิดร่วมด้วย แต่ในทางตรงกันข้าม ขณะที่เป็นอกุศลไม่มีสติ
ถ้าไม่ศึกษาพระธรรมโดยละเอียด นำเอาความหมายที่ใช้กันในภาษาไทยมาใช้ ก็เข้าใจผิด ต้องไม่ลืมว่า สติเป็นเจตสิกที่เกิดกับกุศลจิต และจิตที่ดีงามเท่านั้น ไม่เกิดกับอกุศลจิตเลย บางท่านยังเข้าใจว่า สติคือความรู้สึกตัวว่ากำลังเคลื่อนไหว หรือกำลังทำอะไร เช่นกำลังเดิน กำลังยืน กำลังทำงาน กำลังยกมือ แม้กระทั่งรู้ว่ากำลังคิด กำลังพูด กำลังโกธ ถ้าเข้าใจอย่างนั้น ก็พยายามไปฝึกให้รู้อย่างนั้น โดยใช้คำว่า “ตามรู้” คิดว่าเป็นการฝึกสติ แต่ขณะนั้นไม่มีสติเกิด เพาะขณะนั้นจิตไม่เป็นกุศล แต่เป็นโลภะ ที่ต้องการทำอย่างนั้น สติจึงเกิดไม่ได้ และต้องไม่ลืมว่า นามธรรมทั้งหมดเป็นสภาพรู้ การทำนั้น โลภะก็รู้ได้แต่เข้าใจผิดว่าเป็น สติ แต่เป็น “มิจฉาสติ”
สติ เป็นธรรมะเกิดเพาะเหตุปัจจัย ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ และไม่ใช่เรา ไม่มีใครทำสติให้เกิดขึ้นได้ถ้ากุศลจิตไม่เกิด
ในชีวิตประจำวัน ขณะใดจิตเป็นกุศล เป็นไปในทาน ในศีล ในกุศลประการอื่นๆ ขณะนั้นมีสติ และโสภณะธรรมอื่นๆ เกิดร่วมด้วย แต่ลักษณะของสติ ไม่ปรากฏเนื่องจาก สติมีกำลังอ่อน แต่ก็มีสติเกิดแน่นอน ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ควรเจริญกุศลทุกประการ เมื่อเป็นไปในกุศลบ่อยๆ เนื่องๆ สติ และโสภณะธรรมอื่นๆ ก็เจริญขึ้น ในทางตรงข้ามถ้ากุศลไม่เกิด อกุศลก็เกิดแทน
สติ มีความสำคัญมากในพุทธศาสนา จะเห็นได้ว่า สติมีในหลักธรรมสำคัญๆ หลายประการ ในโพธิปักขิยธรรม ๓๗ เริ่มตั่งแต่ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรค ๘ ล้วนมีสติประกอบทั้งสิ้น แม้ใน สัมมัปปธาน ๔ และ อิทธิบาท ๔ ก็ต้องมีสติเป็นองค์ประกอบ
ดังนั้นต้องอบรมเหตุที่ถูกต้อง คือฟังให้เข้าใจก่อน เพราะถ้าไม่เข้าใจ สติและปัญญาก็ไม่มีทางเกิดได้เลย เพราะถ้าไม่มีปัญญาขั้นการฟังที่รู้ว่าธรรมะคือสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ ก็ไม่เป็นเหตุปัจจัยให้สติและปัญญาเกิด เพราะสติและปัญญาเกิดก็รู้ความจริงที่มีในขณะนี้ ดังนั้นจึงไม่มีตัวตนที่จะพยายามไปฝึกสติ และที่สำคัญถ้าอบรมเหตุผิด เช่น ไปนั่ง ไปจดจ้องสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นโลภะ ไม่ใช่สติ และไม่ใช่เหตุปัจจัยให้เกิดสติ ดังนั้นต้องเริ่มจากเหตุที่ถูกต้อง คือฟังให้เข้าใจ ขณะที่ฟังเข้าใจ แม้ในขณะนี้ เป็นปัญญา ขณะที่ปัญญาเกิดก็มีสติ และโสภณธรรมอื่นๆ เกิดด้วย แล้วยังมีธรรมะที่สำคัญอื่นอีก เช่น ฉันทะ วิริยะ สมาธิ เป็นต้น แม้จะไม่เรียกชื่อว่ากำลังฝึกสติ แต่ก็เป็นการอบรมเหตุที่ถูกต้องที่เป็นปัจจัยให้ สติและปัญญาเกิด นั่นคือสังขารขันธ์ ทำหน้าที่ปรุงแต่งเอง ขณะที่เข้าใจไม่มีตัวตนไปพยายามฝึกสติ เพราะขณะที่ทำ ขณะที่จะพยายาม นั่นไม่ใช่เหตุให้เกิดสติ เป็นโลภะมูลจิตที่ประกอบกับความเห็นผิด เป็นมิจฉาสติ.

You may also like

Leave a Comment

ช่องทางติดตามข่าวสาร

Copyright @2024  All Right Reserved – Buddhawisdomfoundation Buddhawisdom

-
00:00
00:00
Update Required Flash plugin
-
00:00
00:00