Home » มัจฉริยะ

มัจฉริยะ

( Somboon )

by Pakawa

ความตระหนี่ เป็นอกุศลธรรมที่เกิดกับโทสะมูลจิต ไม่เกิดกับโลภมูลจิต ตราบใดที่ยังไม่สามารถดับความตระหนี่ได้ ความตระหนี่ก็ย่อมจะเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย แต่สำหรับผู้ที่เห็นโทษ ก็ย่อมจะขัดเกลาละคลายความตระหนี่ของตนๆ ด้วยการให้ ด้วยการสละ เพื่อขัดเกลาไปตามลำดับ ทีละเล็กทีละน้อย

#มัจฉริยะ

มัจฉริยะ หรือ ความตระหนี่ หมายถึง ความเหนียวแน่น ความหวงแหน ในสมบัติของตน หรือ ปกปิดสมบัติของตนไม่ให้ผู้อื่นรู้ หรือ อยากให้สิ่งที่มีอยู่กับตน หรือ สิ่งที่ดีๆ นั้นมีอยู่กับเราผู้เดียว ไม่อยากให้ผู้อื่นมี เป็นต้น นี่คือ ลักษณะของความตระหนี่ มัจฉริยะ เป็นอกุศลเจตสิกเกิดกับโทสะมูลจิต ไม่เกิดกับโลภะ มัจฉริยะ คือ ความตระหนี่ ๕ อย่าง ได้แก่
๑. อาวาสมัจฉริยะ ตระหนี่ที่อยู่อาศัย
๒. กุลมัจฉริยะ ตระหนี่ตระกูล
๓. ลาภมัจฉริยะ ตระหนี่ลาภ
๔. วรรณมัจฉริยะ ตระหนี่วรรณะ คือคำสรรเสริญ
๕. ธรรมมัจฉริยะ ตระหนี่ธรรม ความรู้
ข้อความในอัฏฐสาลินี ทุกนิกเขปกถา แสดงอรรถแห่ง มัจฉริยะตามไวพจน์ (คำที่มีความหมายคล้ายกันหรือเหมือนกัน) มีข้อความว่าที่ชื่อว่าการตระหนี่ เนื่องด้วยความเหนียวแน่น อาการเหนียวแน่น ชื่อว่ากิริยาที่ตระหนี่ภาวะแห่งจิตที่ถูกความเหนียวแน่นให้เป็นไปแล้ว มีความพร้อมเพรียงอยู่ด้วยความเหนียวแน่นชื่อว่าความตระหนี่ บุคคลชื่อว่าผู้หวงแหนด้วยอรรถว่าไม่ปรารถนาจะให้สมบัติของตนทั้งหมดซึมซาบไป ปรารถนาว่าขอจงเป็นของเราเท่านั้น อย่าเป็นของคนอื่นเลย ภาวะแห่งบุคคลผู้หวงแหนชื่อว่า “ความหวงแหน” นี้ เป็นชื่อแห่งมัจฉริยะอย่างอ่อน บุคคลผู้ไม่มีความเอื้อเฟื้อ เรียกว่า “คนเห็นแก่ตัว” ภาวะแห่งคนเห็นแก่ตัวนั้นชื่อว่า “ความเห็นแก่ตัว” นี้เป็นชื่อแห่งมัจฉริยะอย่างกระด้างจริงอยู่ บุคคลผู้ประกอบด้วยความเห็นแก่ตัวนั้นย่อมห้ามแม้คนอื่นให้ทานแก่คนอื่น บุคคลใดเห็นยาจกแล้วคับใจ คือ เหี่ยวหดด้วยความ ขมขื่น เหตุนั้นบุคคลนั้นชื่อว่า กฏุกญฺจุโก แปลว่าคนมีใจคับแคบ ภาวะแห่งคนใจแคบนั้นชื่อว่าความมีใจคับแคบ อีกนัยหนึ่งความเป็นคนใจแคบเหมือนเครื่องคดหรือทัพพี เรียกว่ากฏุกญฺจุกตา จริงอยู่ บุคคลเมื่อจะคดข้าวในหม้อซึ่งเต็มเสมอขอบปาก ย่อมเอาปลายทัพพีซึ่งแคบไปเสียทุกส่วนคดเอา ย่อมไม่สามารถจะคดให้เต็มได้ จิตของบุคคลผู้ตระหนี่ก็เหมือนอย่างนั้น ย่อมคับแคบ เมื่อจิตนั้นคับแคบแม้กายก็คับแคบ ถดถอยไม่คลี่คลายเหมือนเช่นนั้น เพราะฉะนั้นความตระหนี่จึงตรัสเรียกว่า กฏุกญฺจุกตา แปลว่าความเป็นคนใจแคบเหมือนเครื่องคดคือทัพพี คำว่า “ความกันเอาไว้แห่งจิต” ได้แก่ ความที่จิตกันเอาไว้โดยไม่ยอมคลี่คลายตามอาการ มีการให้ทานเป็นต้น ในการกระทำอุปการะแก่คนเหล่าอื่น ก็เพราะบุคคลตระหนี่ย่อมเป็นผู้ไม่อยากให้ของของตนแก่คนอื่นอยากแต่จะรับเอาของของคนอื่น ฉะนั้น พึงทราบความที่ความตระหนี่นั้นมีการซ่อนสมบัติของตนเป็นลักษณะบ้าง มีการถือเอาเป็นสมบัติของตนเป็นลักษณะบ้าง เกี่ยวกับความเป็นไปว่า “ความอัศจรรย์นี้จงเป็นของเราเท่านั้นอย่าเป็นของคนอื่นเลย” ดังนี้
ข้อความดังกล่าวเป็นการตรวจสอบสภาพจิตใจของ ปุถุชนผู้ยังไม่ได้ดับมัจฉริยะเป็นสมุจเฉท เพราะพระอริยบุคคลเท่านั้นที่ดับมัจฉริยะเป็นสมุจเฉท ขณะใดที่โทสะ มานะ หรือ ริษยา หรือ มัจฉริยะเกิด ขณะนั้นจิตปราศจากเมตตา บุคคลที่อบรมเจริญเมตตาจึงต้องเป็นผู้ที่ละเอียด และรู้สภาพลักษณะของจิตใจขณะที่คิดถึงบุคคลต่างๆ จากบุคคลหนึ่งสู่อีกบุคคลหนึ่ง ไม่ควรจะเป็นผู้ที่ยินดีเพียงสามารถที่จะเมตตาได้ในบุคคลบางพวก แต่จะต้องเป็นผู้ที่ไม่อิ่ม ไม่พอในการเจริญเมตตาให้มากขึ้น
ส่วนธรรมที่ตรงข้ามกับ มัจฉริยะ ความตระหนี่ คือ ปริจาคะ หรือ จาคะ ที่เป็นความเสียสละ องค์ธรรม คือ อโลภะเจตสิก ความไม่ติดข้อง เพราะ อาศัย โลภะ ความติดข้อง พอใจยินดีในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จึงไม่สามารถบริจาค สละได้ เกิดความตระหนี่ขึ้นมาในจิตใจ แต่เพราะอาศัย อโลภะเจตสิกที่เกิดขึ้น ที่เป็น จาคะ การสละ ย่อมไม่หวงแหนในที่อยู่ ไม่หวงแหนตระหนี่ใน ตระกูล มีความหวงเพื่อน เป็นต้น ไม่ตระหนี่ ลาภปัจจัยที่ตนมี เพราะ สามารถ สละ บริจาคได้ ไม่ตระหนี่ในคำสรรเสริญ เพราะ เกิดจาคะ ความสละกิเลสที่มีในจิตใจ ไม่ตระหนี่ในความรู้ที่ตนมี เพราะ มีใจที่คิดจะสละให้ความรู็้เพื่อประโยชน์กับผู้อื่นเท่านั้น ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น นี่คือธรรมที่ตรงกันข้ามกับความตระหนี่ คือ จาคะ อันเป็นสภาพธรรมที่สละ คือ อโลภะเจตสิกที่เกิดขึ้น
แต่เมื่อว่าโดยความละเอียดแล้ว จาคะ ความสละ ไม่ใช่เพียงสละ วัตถุภายนอกเท่านั้น แต่มีสิ่งที่ควรสละ เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ดี คือกิเลสที่มีในจิตใจ เพราะฉะนั้นขณะใดที่ปัญญาเกิดรู้ความจริง เป็นจาคะยิ่งกว่าจาคะ คือ เป็นการสละที่ประเสริฐเพราะ สละความไม่รู้ และ สละกิเลส จนสามารถสละ มัจฉริยะในจิตใจได้ในที่สุด เมื่อถึงความเป็นพระโสดาบัน
การศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม จึงเป็นปัจจัยให้เกิดจาคะ ทั้งสละกิเลสที่มีในจิตใจ และ เป็นปัจจัยให้เจริญขึ้นของกุศลทุกๆประการ มีการให้ทาน ที่เป็นการสละวัตถุ และ ความตระหนี่ที่มีในจิตใจได้จนหมดสิ้น.

You may also like

Leave a Comment

ช่องทางติดตามข่าวสาร

Copyright @2024  All Right Reserved – Buddhawisdomfoundation Buddhawisdom

-
00:00
00:00
Update Required Flash plugin
-
00:00
00:00