Home » ปัญญาคือความเห็นถูก

ปัญญาคือความเห็นถูก

( Somboon )

by Pakawa

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพื่อพุทธบริษัทต้องอนุเคราะห์กัน ถ้าพุทธบริษัทหนึ่งพุทธบริษัทใดไม่เข้าใจหรือเข้าใจผิด พุทธบริษัทอื่นที่เข้าใจ ก็จะได้กล่าวข้อความให้บุคคลนั้นได้รับฟัง ได้พิจารณา ได้ไตร่ตรอง ซึ่งก็แล้วแต่ว่าเขาจะเห็นโทษของการประพฤติผิด แล้วคิดที่จะประพฤติถูกหรือไม่ นั่นก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล

ปัญญาคือความเห็นถูก

การศึกษาโดยละเอียดจะทำให้เราเริ่มเข้าใจถูก มีความเห็นถูก แม้แต่การอบรมเจริญปัญญา ต้องเข้าใจความหมายจริงๆ ไม่ใช่ไปทำอย่างอื่น ต้องเข้าใจว่า ปัญญา คือความเห็นถูก เป็นสภาพธรรมที่มีจริง อาศัยการฟัง และขณะที่ฟังก็ต้องฟังด้วยดี ด้วยความตั้งใจที่จะเข้าใจในสิ่งที่ได้ฟัง สามารถพิจารณาได้ว่า สิ่งที่ได้ยินได้ฟังถูกต้องหรือไม่ ถ้าสิ่งนั้นไม่ถูกต้อง อันนั้นไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ถ้าถูกต้องหมายความว่าตรงกับสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง และการฟัง คือการศึกษาแต่ละครั้ง ก็จะทำให้เข้าใจธรรมขึ้น ปัญญาก็จะเจริญขึ้นตามลำดับ จนกว่าจะเป็นสติปัฏฐาน ซึ่งไม่ใช่เราจะไปทำ แต่เพราะเหตุว่าปัญญามีความเข้าใจถูกต้องเพิ่มขึ้นตามลำดับ เพราะฉะนั้นก็เป็นปัจจัยปรุงแต่ง เป็นสังขารขันธ์ที่จะทำให้สติอีกระดับหนึ่งเกิดขึ้นเป็นสติปัฏฐาน
   ถ้าไม่มีการศึกษาให้เข้าใจก็จะรู้ไม่ได้เลย ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า มีนามธรรมกับรูปธรรม ซึ่งเป็นธรรมที่แยกขาดจากกัน รูปธรรมเป็นธรรมที่มีจริง แต่ไม่สามารถรู้อะไรได้เลย แต่เวลาที่กระทบสัมผัสกาย บางคนอาจจะเข้าใจว่า รูปสามารถมีความรู้สึกได้ เพราะว่าไม่เข้าใจว่า แท้ที่จริงแล้วขณะนั้นมีสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งซึ่งไม่ใช่รูป แต่อาศัยรูปเกิดขึ้น เช่นขณะนี้ทางตามีเห็น ถ้าไม่มีจักขุปสาท คือปสาทตา ซึ่งเป็นรูปพิเศษที่สามารถกระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตา ถ้าใครก็ตามที่กรรมไม่เป็นปัจจัยให้ปสาทรูปเกิด สิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้จะปรากฏไม่ได้
     นี่คือความถูกต้องตามความเป็นจริง ว่าสภาพธรรมที่แม้มีจริง แต่ต้องมีปัจจัยที่ทำให้มีสภาพที่เห็นสิ่งนั้น สิ่งนั้นจึงปรากฏ คนตาบอดไม่รู้ลักษณะของสีสันวัณณะเลย สีสันวัณณะไม่ปรากฏ เพราะไม่มีปัจจัยที่จะให้มีธาตุรู้สี หรือเห็นเกิดขึ้น นี่คือความถูกต้อง แต่ถ้าเป็นเรา ก็หมายความว่าไม่เข้าใจอะไรเลย ทุกคนกระทบสัมผัสสิ่งที่แข็ง ถามใคร ใครก็บอกว่าแข็ง ถามเด็ก เด็กก็บอกว่าแข็ง แต่นั่นไม่ใช่ปัญญา
     ฉะนั้นต้องเข้าใจอรรถของสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติใช้คำว่า “ปัญญา” แล้วก็จะมีชื่ออีกหลายชื่อ สำหรับสภาพธรรมที่มีความเห็นถูกตามระดับขั้นด้วย ต้องเข้าใจว่า ปัญญาเจตสิก ไม่ใช่ปัญญาทางโลก ซึ่งเราสามารถศึกษาวิชาการทางโลก ซึ่งไม่ได้รู้ตัวจริงของธรรม เป็นแต่เพียงความทรงจำเรื่องราวของธรรมซึ่งเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็ว และก็ยึดถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ว่าจะเป็นวิชาการสาขาใดทั้งสิ้น เช่น วิชาการแพทย์ ก็จะมีการทรงจำในรูปร่างสัณฐานของรูปธรรม สีสันวัณณะที่ต่างกัน บัญญัติว่าเป็นหัวใจ ตับ ปอด ม้าม เป็นต้น แต่ว่าลักษณะแท้ๆ สิ่งนั้นปรากฏเมื่อไร ถ้ามีจักขุปสาท สีสันวัณณะเท่านั้นปรากฏ ถ้ากระทบสัมผัส เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหวเท่านั้นปรากฏ
     วิชาการทางโลกซึ่งมีผู้ที่มีความสามารถต่างๆ ขณะนั้นไม่ใช่ปัญญาเจตสิก ถ้าเป็นปัญญาเจตสิก คือ รู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงๆ อย่างถูกต้องตามลำดับขั้น จึงจะเป็นสัมมาทิฏฐิ หรือปัญญาเจตสิก.

You may also like

Leave a Comment

ช่องทางติดตามข่าวสาร

Copyright @2024  All Right Reserved – Buddhawisdomfoundation Buddhawisdom

-
00:00
00:00
Update Required Flash plugin
-
00:00
00:00