ชีวิตทั้งหมดที่เกิดมา ค่าอยู่ที่เข้าใจธรรม เพราะว่า เกิดมามีแต่โลภะ ความติดข้อง โทสะ ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ และ กิเลสต่างๆ เหมือนเกิดมาเพื่อเก็บขยะจริงๆ อกุศลทั้งหลายเหมือนขยะ เหมือนเชื้อโรค ก็เก็บไปพอกพูนมากขึ้น แต่ขณะใดก็ตาม ที่เป็นความเข้าใจถูก ความเห็นถูก ขณะนั้น มีค่าที่สุดในชีวิต
ธรรมะคลายทุกข์
ตราบใด ยังไม่ได้ฟังพระธรรม ยังไม่มีความเข้าใจ ก็ไม่สามารถเอาธรรมไปใช้ได้เพราะ ยังไม่มีธรรมที่ดีเกิดขึ้นในจิตใจ ดังนั้นแทนที่จะให้สบายใจขึ้น ก็ทำให้คนนั้นเข้าใจขึ้น เข้าใจความจริงในสิ่งที่เกิดแล้วว่า ความทุกข์เป็นธรรมดา ทุกข์มีเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้น คือเพราะ มีกิเลส อาศัยความติดข้อง จึงเป็นปัจจัย ให้เกิดความทุกข์ใจได้เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่จะคลายทุกข์ แต่เข้าใจเหตุแห่งทุกข์ว่ามาจากอะไร และ จึงอบรมเหตุที่จะละสิ่งที่ทำให้ทุกข์ คือ อบรมธรรม คือ ปัญญา เพื่อละกิเลส มีความไม่รู้ และความติดข้อง แต่ต้องอาศัยระยะเวลายาวนาน
ธรรมไม่ใช่ยารักษาโรคที่ทานแล้วหายทันที เพราะ โรคที่เป็น คือ โรคกิเลสที่เป็นโรคเรื้อรัง สะสมกิเลสมามาก เพราะฉะนั้น เพียงจะให้ธรรมเพียงไม่กี่บท ศึกษาไม่นาน จะทำให้โรคกิเลสที่สะสมมานาน นับชาติไม่ถ้วน ให้หายทุกข์ใจไปในทันทีคงไม่ใช่ และ ไม่ใช่วิธีแก้ที่ถูกต้อง
เพราะฉะนั้น หากจะหาวิธีที่จะทำ ที่จะให้หายทุกข์เร็วๆ เพียงธรรมไม่กี่บท ซึ่งไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง ก็เปรียบเหมือนการทานยาชุด ที่หายตอนทานไม่นานเลย แต่กลับมาเป็นอย่างหนัก และ เรื้อรัง และ ยานั้นก็มีโทษด้วย ยิ่งมีโทษกับร่างกายเข้าไปอีก ฉันใด การจะใช้ธรรม โดยไม่เข้าใจธรรม เพียงศึกษาผิวเผิน เพื่อที่จะให้หายทุกข์ทันทีไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ แต่กลับเพิ่มความเป็นตัวตนที่จะทำ โดยลืมความเข้าใจธรรมเป็นสำคัญ ว่าจะเป็นยารักษาโรคที่ดี ถูกทาง โดยการศึกษาธรรมอย่างยาวนาน
ซึ่ง หากทานยาที่ตรงกับโรค และค่อยๆ รักษาไป อย่างถูกวิธี และ ร่วมกับ การออกกายบริหาร เป็นต้น ก็ทำให้โรคค่อยๆ ทุเลาเบาบางจนหายขาดได้ แต่ต้องใช้เวลานาน เพราะเป็นโรคร้าย การจะละกิเลส ไม่ให้ทุกข์ใจ เพราะเหตุการณ์ต่างๆ ก็ต้องด้วยวิธีที่ถูกต้อง ด้วยการศึกษาพระธรรมอย่างยาวนาน เปรียบเหมือนทานยาที่ถูกกับโรค และ เจริญกุศลทุกๆ ประการ อันเกิดจากความเข้าใจ ก็เหมือนการออกกำลังกายควบคู่กันไปกับการทานยา การสะสมความเข้าใจ และ เจริญอบรมบารมี กุศลธรรมประการต่างๆ ย่างยาวนาน ก็สามารถละกิเลส ไม่ต้องทุกข์ใจได้จริงๆ อย่างสิ้นเชิง
แม้ นางวิสาขา และ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ผู้เป็นพระโสดาบัน เมื่อหลาน และลูกสาวสิ้นชีวิต ท่านทั้งสองก็ร้องไห้ เสียใจเป็นอย่างมาก ไม่มีใครห้ามความทุกข์ใจได้ ทุกข์ใจเกิดแล้ว แต่ท่านก็ไม่ไปแสวงหาทางผิดที่จะมีตัวตนที่จะไปบังคับ ไม่ให้ทุกข์ใจ แต่หนทางคือ ท่านเข้าใจในสิ่งทีเกิดแล้ว แม้ความทุกข์ทีเกิดขึ้นว่า เป็นธรรมไม่ใช่เรา เพราะท่านสะสมปัญญามา นี่คือหนทางที่ถูกต้อง คือ หนทางที่เข้าใจไม่ใช่หนทางที่จะทำ ซึ่งจะมีปัญญาได้ก็ต้องศึกษาพระธรรมอย่างละเอียด และยาวนาน มากๆ
ธรรมจึงไม่ใช่ยาที่จะรักษาโรคใจให้หายทันทีแต่ ธรรมเป็นเรื่องของความเข้าใจที่จะต้องอาศัยการศึกษาพระธรรมอย่างยาวนาน.