เริ่มฟังธรรมศึกษาพระธรรม ได้เริ่มเข้าใจธรรม เริ่มเห็นประโยชน์ของการเกิดมาในชาตินี้ซึ่งเป็นมนุษย์มีโอกาสที่จะได้ฟังสิ่งซึ่งยากที่จะได้ฟัง เพราะถ้าไม่สนใจที่จะศึกษาที่จะเข้าใจ พระธรรมคำสอนก็อยู่ในตำรา ไม่เป็นประโยชน์ ไม่ใช่โอกาสกับผู้นั้น เมื่อจักรทั้ง ๔ มาประชุมรวมกันแล้ว ก็อยู่กับแต่ละท่านว่าจะได้รับประโยชน์ หรือจะละทิ้งโอกาสนั้นเสีย
ชีวิตที่ไม่ประมาท
ปกติในชีวิตประจำวันของผู้ที่ยังเต็มไปด้วยกิเลส อกุศลจิตเกิดมากกว่ากุศลจิต กล่าวได้ว่าเป็นผู้ที่ประมาทเกือบทั้งวัน เพราะขณะที่อกุศลจิตเกิดนั้นไม่มีสติ จึงเป็นผู้ประมาท และอกุศลที่สะสมในแต่ละวันจนมีกำลังมากขึ้น จึงเป็นปัจจัยให้กระทำอกุศลกรรม กระทำทุจริตทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ซึ่งเป็นเหตุทำให้ต้องได้รับผลของอกุศลกรรมที่ได้กระทำไว้ในภายหน้า อกุศลนำมาซึ่งความทุกข์ความเดือดร้อนเท่านั้นไม่เคยนำประโยชน์สุขมาให้เลยแม้แต่น้อย
ตามความเป็นจริงแล้วถึงแม้ว่าในชีวิตประจำวัน อกุศลจะเกิดมากตามเหตุปัจจัย แต่ก็ไม่ควรที่จะไปคร่ำครวญ เพราะสิ่งที่ผ่านไปแล้วก็ผ่านไป ถ้ามีความเข้าใจในเหตุและผล และรู้ว่ากุศลมีน้อยกว่าอกุศล ก็จะต้องเป็นผู้ไม่ประมาทในการอบรมเจริญกุศลทุกประการ โดยเฉพาะการเจริญปัญญา ด้วยการฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง และไม่ควรประมาทแม้ในอกุศลเพียงเล็กน้อยด้วย เพราะอกุศลแม้เล็กน้อยก็เป็นโทษ
ชีวิตมีความตายเป็นที่สุด ไม่วันใดก็วันหนึ่ง และไม่รู้เวลาเลยว่า วันไหน และเมื่อไหร่ โอกาสที่เกิดเป็นมนุษย์ยาก โอกาสได้พบพระธรรม ได้ฟังพระธรรมก็หายาก ชีวิตที่เหลือน้อย ควรใช้เวลาที่มีค่า แสวงหาสิ่งที่ประเสริฐ เมื่อพิจาณาด้วยปัญญา ถึงความเป็นไปในชีวิตว่าเป็นของน้อย ย่อมจะเป็นผู้ไม่ประมาทในการศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรมมากขึ้น
ความประมาท ก็ไม่พ้นจากจิตและเจตสิก คำว่าประมาท คือ ขณะที่ไม่มีสติ หรือ ขณะที่เป็นอกุศล ชื่อว่า ประมาทเพราะปราศจากสติ เมื่อไม่สติก็เป็นอกุศลธรรม แต่ไม่ใช่ประมาท คือ เดินไปไม่ระวัง ข้ามถนนไม่ระวังเลยประมาท หรือ ทำการงาน ไม่คิดถึงอนาคต จึงชื่อประมาทอันนี้ไม่ใช่ ส่วนไม่ประมาท คือ มีสติ คือ เป็นกุศลจิตในขณะนั้น หรือ ขณะที่ปัญญาเกิดรู้ความจริงที่เป็นวิปัสสนา ชื่อว่า ไม่ประมาท
ดังนั้น ความประมาท จึงหมายถึง จิตที่เป็นอกุศลจิต ที่มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย เช่น อหิริกะ อโนตัปปะเจตสิก อุทธัจจะเจตสิกเจตสิก โมหะเจตสิก เป็นต้น
ความประมาทเป็นหนทางแห่งความตาย คือผู้ที่ไม่ทำความดี ไม่อบรมเจริญปัญญาเป็นหนทางแห่งความตาย คือ จะต้องตายไม่มีที่สิ้นสึุด ความประมาท คือ การทำอกุศลกรรม ไม่อบรมปัญญา ก็ต้องตายตลอดไป ก็เป็นหนทางแห่งความตาย
ผู้ที่ทำกุศล โดยเฉพาะอบรมปัญญาเพื่อดับกิเลส เป็นหนทางที่จะไม่เกิดอีกเพราะดับเหตุแห่งการเกิด คือ กิเลส จึงไม่ตาย คือ ไม่ต้องเกิดอีกนั่นเองเป็นผู้ไม่ประมาท แต่ไมได้หมายความว่า ผู้ที่ทำกุศล อบรมปัญญาจะไม่ตาย ต้องตายแน่ แต่ย่อมถึงความไม่ตายได้ในอนาคต ด้วยการอบรมความไม่ประมาท คือ กุศล บารมีต่างๆ และ สติปัฏฐาน ที่เป็นการเจริญอบรมปัญญา จนถึงการดับกิเลส ถึงการไม่เกิด ย่อมเป็นหนทางแห่งความไม่ตาย
ความประมาทที่ร้ายแรงที่สุดในชีวิตคือ ไม่ได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม หรือ คิดว่าพระธรรมง่าย เป็นผู้ผิวเผินในการศึกษาธรรม ปฏิบัติ ตาม ๆ กันแบบผิดๆ จนเป็นความเห็นผิด