ถ้าไม่ได้ระลึกเลยว่า “ความตายใกล้ที่สุด อาจจะเกิดขึ้นขณะหนึ่งขณะใดได้ทั้งนั้น” วันหนึ่ง ๆ ก็ผ่านไป โดยที่ไม่ได้อบรมเจริญกุศลให้ยิ่งขึ้น เป็นผู้ประมาทมัวเมา และเป็นการมีชีวิตอยู่ที่ในโลกนี้ อย่างไม่มีสาระ เพราะไม่ได้ถือเอาสิ่งที่เป็นสาระ คือกุศลประการต่าง ๆ พร้อมด้วยการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ จากการที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์
#ชีวิตกับความหวัง
ความหวังนั้นเหมือนจินตนาการที่สวยงาม เหมือนความฝันอันสูงส่งที่ชวนให้เราวาดภาพสิ่งที่ใจต้องการไว้ใหญ่โต แต่ความจริง ทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งที่ลมๆ แล้งๆ เพราะเพียงคิดหวัง ถ้าหากเราไม่ได้กระทำเหตุที่ดีไว้ จะปรารถนาสักเท่าไร สิ่งดีๆ ที่เราต้องการ ก็จะไม่เข้ามาในชีวิต ถ้ากุศลไม่ให้ผล จะไม่มีสักคนที่จะได้ตามหวัง พอได้ตามที่หวัง เราก็ลืมว่าเป็นเพราะกรรมดีให้ผล ลืมเพราะไม่รู้ แล้วก็เลยติดอีก แล้วก็หวังในสิ่งใหม่ๆ ต่อไปอีก สะสมอกุศลต่อๆ ไปอีก วนเวียนไปมาอย่างคับแคบอยู่อย่างนี้
ความหวังทำให้จิตใจเร่าร้อน กระสับกระส่าย ความหวัง คือ โลภะ ความหวังเป็นความติดข้องต้องการ ความไม่ยอมสละ ความเยื่อใย ความผูกพัน ความตามกระซิบให้ปรารถนาในสิ่งต่างๆ อยู่ร่ำไป
ผู้ที่เป็นพระอรหันต์เท่านั้นที่จะหมดความหวัง หมดความติดข้องในทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นผู้ที่เย็นสนิท เป็นผู้ที่ดื่มด่ำกับความสงบที่แท้จริงจากภายในเป็นผู้โล่งใจ ไม่หวาดหวั่นในโลกธรรมใดๆ อีกต่อไป แต่ผู้ที่ไม่ใช่พระอริยเจ้า ยังต้องศึกษาให้เข้าใจจริงๆ ว่า ความหวังเป็นธรรมะชนิดหนึ่ง ไม่ใช่เรา
ทุกอย่างเป็นธรรมและเป็นไปตามเหตุปัจจัยไม่ใช่อยู่ที่ความหวัง แต่เมื่อมีเหตุความหวังก็เกิดขึ้น เมื่อไม่ได้อย่างที่หวังก็เป็นทุกข์เป็นไปตามธรรมที่ต้องเป็นอย่างนั้น แต่ในความเป็นปัจจัยนั้นเอง อกุศล (ความหวัง ความเดือดร้อนใจ) ย่อมเป็นปัจจัยให้กุศลเกิดได้ เมื่อกุศลเกิดปัญญาย่อมเกิดได้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ปัญญาย่อมพิจารณาว่าสิ่งที่ประเสริฐคืออริยทรัพย์และการได้มีโอกาสฟังธรรมและเจริญกุศล ที่สำคัญนับว่าเป็นโชคดีอย่างยิ่งที่ได้อยู่ในประเทศอันสมควร ซึงทำให้มีโอกาสเจริญกุศลทุกๆ ประการ ยิ่งไปกว่านั้นเมื่ออยู่ในประเทศอันสมควรแล้วก็ย่อมได้มีโอกาสฟังพระธรรมของพุทธเจ้า ได้อยู่ใกล้กัลยาณมิตรอันเป็นปัจจัยให้เจริญกุศลและเจริญปัญญาเพราะไม่มีสิ่งใดที่จะประเสริฐเท่ากับการเจริญของปัญญา
จาก มังคลัตถทีปนีแปล เล่ม ๑ – หน้าที่ 128 กถาว่าด้วยการอยู่ในประเทศอันสมควร
[๘๑] บริษัท ๔ ย่อมเที่ยวไป บุญกิริยาวัตถุมีทานเป็นต้นย่อมเป็นไป คำสอนของพระศาสดามีองค์ ๙ ย่อมรุ่งเรืองในประเทศใดประเทศนั้น ชื่อว่า ประเทศอันสมควร. การอาศัยอยู่ในประเทศอันสมควรนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เป็นมงคล” เพราะเป็นปัจจัยแห่งการทำบุญแห่งสัตว์ทั้งหลาย.
ทรัพย์สมบัติเป็นของชั่วคราว ไม่ใช่ของใคร ทุกคนจำต้องละสิ่งต่างๆ ไป ไม่มีใครต้านทานได้ ทรัพย์สมบัติไม่ใช่เหตุให้ปัญญาเจริญ ปัญญาประเสริฐกว่าทรัพย์ เพราะผู้มีปัญญาแม้สิ้นทรัพย์ก็เป็นอยู่ได้ ผู้ไม่มีปัญญาแม้มีทรัพย์ก็ย่อมเดือดร้อนเพราะทรัพย์ และทำบาปเพราะเหตุแห่งทรัพย์ ดังนั้นการได้ลาภที่ประเสริฐที่สุดก็คือการได้ลาภคือ อริยทรัพย์ การได้ลาภคือศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา เพระทรัพย์เหล่านี้เมื่อเจริญขึ้นย่อมพ้นจากทุกข์ แต่การได้ลาภคือทรัพย์สมบัติ บุตร ภรรยา ญาติพี่น้อง ย่อมไม่ทำให้พ้นไปจากทุกข์
#กรรมที่ให้ผลโดยกาล
สำหรับการให้ผลของกรรมโดยกาล ที่ท่านแสดงไว้มี ๓ คือ ทิฏฐธัมมเวทนียกรรม ให้ผลในปัจจุบันชาติที่กระทำกรรมนั้น, อุปปัชชเวทนียกรรม ให้ผลในชาติต่อไป คือชาติหน้าต่อจากชาตินี้, และอปรปริยายเวทนียกรรม คือ กรรมที่ให้ผลในชาติต่อๆไปตราบใดที่สังสารวัฏยังไม่สิ้น
ถ้าจะแสดงถึงกรรมทั้ง ๓ นี้ สงเคราะห์กรรม ๓ นี้กับชวนจิต ๗ ขณะ ทิฏฐธัมมเวทนียกรรมเป็นชวนจิตดวงที่ ๑ เพราะเหตุว่าสามารถจะให้ผลเพียงในชาติปัจจุบันนี้เท่านั้น ถ้าชวนจิตดวงที่ ๑ ไม่มีโอกาสให้ผล ไม่เป็นทิฏฐธัมมเวทนียกรรม ก็จะไม่ให้ผลในชาติต่อ ๆ ไปเลย สำหรับกรรมที่ ๒ คือ อุปปัชชเวทนียกรรม ได้แก่ กรรมที่จะทำให้ปฏิสนธิในชาติต่อไป และให้ผลได้ในชาติต่อไป ได้แก่ ชวนจิตดวงที่ ๗ อปรปริยายเวทนียกรรม ที่จะให้ผลได้ตลอดไปในชาติอื่นๆ ตราบเท่าที่ยังมีสังสารวัฏอยู่ ก็ได้แก่ ชวนจิตขณะที่ ๒ ถึงขณะที่ ๖
๑. ทิฏฐธัมมเวทนีย ในชวนจิต ๗ ขณะ เจตนาในชวนจิตดวงที่ ๑ เมื่อให้ผลเป็นทิฏฐธัมมเวทนีย กรรม คือ ให้ผลในปัจจุบันชาตินั้นเอง ถ้าในปัจจุบันชาตินั้นไม่ให้ผล ก็เป็นอโหสิกรรม คือกรรมที่ได้ทำแล้วแต่ไม่ทำให้วิบากเกิดขึ้น
ท่านคงจะอยากได้ผลของกุศลชวนะดวงที่ ๑ ทำบุญแล้วเมื่อไรจะได้ผลของบุญ พอทำเสร็จก็หวังที่จะได้ผลของกุศลนั้นทันที นี่คือต้องการผลของบุญที่เป็นทิฏฐธัมมเวทนียกรรม คือเมื่อทำแล้วก็ให้ได้ผลในชาตินั้น แต่ให้ทราบว่าเวลาที่ได้กระทำบุญไปแล้ว อาจจะเป็นทิฏฐธัมมเวทนียกรรมหรือว่าอาจจะไม่ใช่ทิฏฐธัมมเวทนียกรรมก็ได้ เสียดายไหม ทำบุญไปแล้ว ไม่ได้ให้ผลในชาตินี้ ถ้าเป็นฝ่ายอกุศลไม่เสียดาย แต่ถ้าเป็นฝ่ายกุศลก็เสียดาย แต่ให้ทราบว่าทิฏฐธัมมเวทนียกรรมเป็นได้ทั้งกุศลและอกุศล
๒. อุปปัชชเวทนีย สำหรับการให้ผลของกรรมโดยกาลที่ไม่ใช่ในชาติปัจจุบันก็คือ อุปปัชชเวทนียกรรม ให้ผลในชาติต่อไป กุศลกรรมที่ทำแล้ว ถ้าชาตินี้ไม่ให้ผล ก็แล้วไป
สำหรับชวนจิตดวงสุดท้ายคือดวงที่ ๗ สามารถที่จะเป็นอุปปัชชเวทนียกรรม คือให้ผลในชาติต่อไป โดยทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น และเมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว อุปปัชชเวทนียกรรมก็เป็นปัจจัยทำให้ภวังคจิตเกิดต่อ ดำรงภพชาติสืบต่อไป นอกจากนั้นยังอุปถัมภ์โดยการที่ทำให้ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ เกิดขึ้นรู้อารมณ์ต่างๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย โดยกรรมนั้นด้วย เพราะฉะนั้น กิจของกรรมนี้ คือ ชนโกปถัมภกิจหมายความว่า ทำให้เกิดขึ้นโดยปฏิสนธิกิจแล้วก็ยังอุปถัมภ์ต่อไปด้วย
ผู้ที่เกิดมาในสกุลใด ก็อยู่ในสกุลนั้นตลอดไป ผู้ที่เกิดมาในสกุลที่มั่งคั่งก็จะมีชีวิตที่สมบูรณ์ มั่งคั่งชั่วระยะที่กรรมอื่นยังไม่มีโอกาสจะให้ผล ฉะนั้นกรรมที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น เมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว ก็ทำให้ภวังคจิตเกิดต่อ ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้น แล้วก็ยังอุปถัมภ์ให้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ได้กระทบสัมผัสกับอารมณ์แล้วแต่ว่าเป็นผลของกุศลที่ประณีตมากหรือน้อยขั้นใด ก็เป็นไปอย่างนั้นจนกว่ากรรมอื่นมีโอกาสจะให้ผล
๓. อปรปริยายเวทนียกรรม สำหรับการให้ผลโดยกาลของกรรมอีกประเภทหนึ่งคือ อปรปริยายเวทนียกรรม เป็นผลของกุศลหรืออกุศลชวนะดวงที่ ๒-๖ ผลของกรรม ถ้าไม่ให้ผลในชาตินี้หรือชาติหน้า ก็ยังมีโอกาสที่จะให้ผลในชาติต่อๆ ไปอีกไม่สิ้นสุด ตราบใดที่ยังมีสังสารวัฏอยู่ ด้วยอปรปริยายเวทนียกรรม
ทุกท่านจะเกิดมาแล้วในสังสารวัฏ นานแสนนานเท่าไร ไม่มีใครสามารถที่จะทบทวนย้อนไปได้ เช่นเดียวกับที่จะเกิดอีกต่อไป ก็ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ว่า จะเกิดต่อไปอีกยาวนานสักเท่าไร นอกจากจะได้อบรมเจริญปัญญาสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยบุคคล เป็นพระโสดาบันบุคคลเมื่อไร จะเกิดอีกไม่เกิน ๗ ชาติ แต่ถ้ายังไม่ใช่พระโสดาบัน และก็อยากจะไม่เกิดอีกเลย เป็นไปไม่ได้ อย่างไรก็ต้องเกิด เพราะเหตุว่ามีเหตุปัจจัยที่จะให้เกิด คือกรรม.