คุณค่าอย่างยิ่งจากการที่ไม่รู้เป็นรู้ ได้จากคำที่มาจากการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โอกาสของการฟังพระธรรมก็ไม่แน่ว่าจะนานเท่าไหร่ จะมากหรือจะน้อย แต่ทุกครั้งที่ได้ฟังประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตก็คือ ได้เข้าใจความจริง
#กรรมให้ผลตามโอกาส
การให้ผลของกรรม มีด้วยปัจจัยหลายประการ ประการหนึ่งก็คือเพราะกรรมที่ทำไว้ในอดีต เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้ได้รับผลของกรรม แต่การจะได้รับผลของกรรมไม่ใช่เพียงเฉพาะเรื่องกรรมในอดีต เป็นปัจจัยเท่านั้น ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกด้วยที่เป็นปัจจัยที่จะทำให้ได้รับ อกุศลกรรม หรือ กุศลกรรม ซึ่งมีหลายประการดังนี้ คือ คติ ภพูมิที่เกิด, อุปธิ รูปร่างหน้าตา, กาล ช่วงเวลาที่เกิด, ปโยคะ ความเพียร
คติ เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการให้ผลของกรรมในปัจจุบัน เช่นกัน คติคือภพภูมิที่เกิด เช่น เกิดในภพภูมิที่ดี เช่น เทวดา โอกาสที่ผลของกุศลจะให้ผลก็มีมากกว่าแทนที่กรรมในอดีตที่เป็นอกุศลกรรมที่เคยทำไว้จะให้ผลในชาตินั้น แต่เมื่อเกิดในภพภูมิที่ดี เป็นคติสมบัติ มีเทวดา เป็นต้น ผลของอกุศลก็ให้ผลน้อย หรือห้ามอกุศลกรรมนั้น ส่วนผลของกุศลก็ให้ผลแทน เพราะมีคติ คือภพภูมิที่เกิดเป็นปัจจัยประการหนึ่งในการให้ได้รับผลของกรรม ที่เป็นกรรมดี มีการเกิดในภพภูมิที่ดี โดยนัยตรงกันข้าม ถ้าเกิดในคติไม่ดี คติวิบัติ เช่น เกิดในนรก โอกาสที่ผลของอกุศลจะให้ผลมากกว่าผลของกุศลกรรม เพราะอยู่ในภพภูมิที่มีแต่การทรมาน แม้จะเคยทำกรรมดีไว้มากมาย แต่ภพูมินั้นเป็นภพภูมิที่ได้รับอกุศลวิบากเป็นส่วนใหญ่จึงทำให้เกิดในคติไม่ดี เป็นคติวิบัติก็ย่อมห้าม ผลของบุญที่จะให้ผล
อุปธิ คือ รูปร่าง หน้าตา บุคคลที่เกิดมามีรูปร่างหน้าตาดี อุปธิสมบัติ ก็มีโอกาสได้รับสิ่งที่ดี มีโอกาสของผลของกุศลกรรมจะให้ผล เช่น การได้ยินเสียงที่ดี (คำชม) การได้รับโอกาสในชีวิตที่ดี เพราะอาศัย อุปธิเป็นปัจจัยประการหนึ่งในการทำให้ได้รับวิบากที่ดีง่ายขึ้นเพราะอาศัยรูปร่างหน้าตาที่ดี ส่วน ผู้ที่มีอุปธิไม่ดี อุปธิวิบัติ คือรูปร่างหน้าตาไม่ดี ก็มีเหตุที่จะได้รับอกุศลวิบากและห้ามกุศลวิบากบางอย่างได้ เช่นได้รับเสียงที่ไม่ดี (คำติ) เป็นต้น
กาล คือ ช่วงเวลาทีเ่กิด เช่น หากเกิดในกาลสมบัติ คือ ช่วงเวลาที่บ้านเมืองสงบสุข ก็ย่อมมีโอกาสที่จะได้รับสิ่งที่ดีๆ จากบ้านเมืองสงบสุขมากกว่า กาลวิบัติคือ บ้านเมืองไม่สงบสุข ข้าวยากหมากแพง มีโรคภัยไข้เจ็บระบาด เป็นต้น
ปโยคะ ความเพียร หมายถึง ความเพียรที่เป็นไปในกุศลกรรม และอกุศลกรรม ความเพียรที่เป็นปโยคะนี้เองที่เป็นเหตุปัจจุบันที่จะมีผลต่อการได้รับผลของกรรมที่ดีหรือไม่ดี ก็เพราะอาศัยความเพียร ปโยคสมบัติ คือ ความเพียรที่เป็นไปในกุศลกรรม เช่น การทำความดีประการต่างๆ เนืองนิตย์ในชีวิตประจำวัน ในปัจจุบันชาติ ผู้ที่ทำความดีเนืองๆ แม้มีอกุศลกรรมในอดีตที่ทำมาแต่อกุศลกรรมในอดีตนั้นก็ไม่สามารถให้ผลได้เพราะถูกปโยคสมบัติห้ามไว้ เนื่องด้วยความเป็นผู้ทำความดีเป็นประจำในชีวิตประจำวันนั่นเอง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีกรรมในอดีตที่จะไม่ให้ผลที่เป็นอกุศลกรรมเลย แต่เพราะอาศัยกรรมดีที่ประกอบเนืองๆ ในปัจจุบัน ย่อมห้ามกรรมบางอย่างที่เป็นอกุศลกรรมได้ เพราะอาศัยเหตุปัจจุบัน คือการทำความดี ดังนั้นความเพียรที่เป็นไปในกุศลกรรมในปัจจุบันย่อมห้ามกรรมไม่ดีบางอย่างได้ และย่อมส่งเสริมให้ได้รับผลของกุศลกรรมในอดีตให้ผลได้ เพราะอาศัยปโยคสมบัติ คือการทำความดีในปัจจุบัน โดยนัยตรงกันข้าม ผู้ที่มักทำกรรมชั่วในปัจจุบัน เนืองๆ บ่อยๆ เป็นปโยควิบัติ ความเพียรที่ไม่ดี ก็ย่อมทำให้มีโอกาสได้รับผลของอกุศลกรรมในอดีตได้มากขึ้นเพราะปัจจุบันทำกรรมไม่ดี บ่อยๆ เนื่องๆ นั่นเอง และเป็นการห้ามวิบากของกรรมดีที่เคยทำไว้ในอดีตแทนที่จะให้ผลก็ไม่ให้ผล เพราะชาติปัจจุบัน เป็นผู้ทำกรรมชั่วเป็นประจำ จึงเป็นปโยควิบัติ ห้ามกรรมดีในอดีตไม่ให้ผล
พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๒ – หน้าที่ 711 แสดงว่า
บุคคลอื่นอีกที่มีบาปกรรมมาก บาปกรรมเหล่านั้น พึงให้ผลแก่บุคคล ผู้ตั้งอยู่ในปโยควิบัติ. แต่ว่า บุคคลนั้นดำรงอยู่ในปโยคสมบัติ ด้วยกัลยาณกรรมอย่างหนึ่ง คือเป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต เป็นต้น แล้วย่อมยังกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริตทั้งหลายให้เต็ม. ในฐานะเช่นนั้น โอกาสแห่งการให้ผลของอกุศลย่อมไม่มี มีแต่โอกาสของกุศลอย่างเดียวเท่านั้น.
บุคคลแม้อื่นอีกที่มีบาปกรรมมาก บาปกรรมนั้นไม่พึงให้ผลแก่บุคคลผู้ตั้งอยู่ในปโยคสมบัติ แต่ว่าบุคคลนั้นตั้งอยู่ในปโยควิบัติแล้ว ย่อมกระทำอกุศลกรรม ๑๐ มีปาณาติบาต เป็นต้น ราชบุรุษทั้งหลายจับผู้ทำกรรม อันหยาบช้านั้นนั่นแหละแสดงต่อพระราชา พระราชาทรงให้กรรมกรณ์ (การทรมานทางกาย) เป็นอันมากแล้วก็ให้ฆ่าเสีย.
พระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมทรงทราบว่า บาปกรรมทั้งหลายมากย่อมไม่อาจให้ผล เพราะความที่ปโยคสมบัติห้ามไว้ แต่ก็ย่อมให้ผลได้เพราะอาศัยปโยควิบัติ ดังนี้ ด้วยประการฉะนี้.