ธรรมเกิดแล้วดับ แล้วไม่กลับมาอีกเลยไม่มีอะไรเหลือเลย แสนธรรมดาแต่ไม่รู้ เพราะหลับสนิทเป็นเรื่องเป็นราวตั้งแต่เกิด ไม่รู้และติดข้องตั้งแต่เกิดจนตาย หลงในสังสารวัฏ ทุกคนที่ไม่รู้ความจริง ติดข้องในสิ่งที่ไม่มี
ความสันโดษ
สันโดษ เป็นสภาพธรรมที่มีจริงเป็นธรรมฝ่ายดี จะไม่เป็นอกุศลเลย เป็นมงคลและเป็นธรรมเครื่องขัดเกลากิเลสอันจะทำให้ถึงพระนิพพาน
ความสันโดษ คือความเป็นผู้ยินดีในของๆ ตนทีได้มา แต่ขณะที่เป็นความสันโดษ ขณะนั้นไม่ใช่ความยินดีที่เป็นโลภะ แต่ขณะนั้นเมื่อผู้อื่นจะให้อะไรไม่รับเพราะมีความสันโดษ คือเห็นว่าของๆ ตนเพียงพอแล้วจึงไม่รับในสิ่งได้มา ในขณะนั้นไม่มีโลภะเป็นความสันโดษในขณะนั้น
ความสันโดษ จึงเป็นความยินดีในของๆ ตนที่มีอยู่ ผู้ที่ยินดีในของๆ ตน ย่อมจะไม่เดือดร้อนกับสิ่งที่จะได้หรือไม่ได้ เพราะไม่มีความปรารถนาต้องการในสิ่งภายนอก ไม่มีความคาดหวังในสิ่งที่จะได้รับ เพียงแต่ใช้สิ่งที่มีในปัจจุบันที่มี ของตน ดังพระพุทธที่ว่า
“ผู้ไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่เป็นอดีต ไม่บ่นถึงสิ่งที่เป็นอนาคต ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยสิ่งเป็นปัจจุบัน ท่านเรียกว่า ผู้สันโดษ”
ความสันโดษ มี ๑๒ ประการคือ ความสันโดษตามมีตามได้ (ยถาลาภสันโดษ) ความสันโดษตามกำลังของตน (ยถาพลสันโดษ) ความสันโดษตามความเหมาะสม (ยถาสารุปปสันโดษ) ในปัจจัย ๔ คือใน จีวิร บิณฑบาต เสนาสนะ และ คิลานปัจจัย (ยา) จึงเป็น สันโดษ ๑๒ ประการ
ยกตัวอย่างเช่น หากได้จีวร หรือเสื้อผ้ามาจะดีหรือไม่ดีและก็ใช้จีวรหรือเสื้อผ้านั้นอยู่ เมื่อมีผู้ให้ก็ไม่มีความปรารถนาต้องการที่จะรับในจีวรหรือเสื้อผ้านั้นเพราะเห็นว่าตัวเองมีใช้แล้ว เพียงพอแล้วและก็ใช้ของที่ตนมีนั้นแหละ ไม่รับผ้านั้นชื่อว่าเป็นผู้สันโดษตามมีตามได้ (ยถาลาภสันโดษ)
แต่เมื่อได้จีวรหรือเสื้อผ้าซึ่งไม่เหมาะกับตน เช่น จีวรหนักไป เป็นต้นก็แลกเปลี่ยนกับผู้อื่น ดังนั้นการแลกเปลี่ยนก็เป็นความสันโดษเช่นกัน เป็นความสันโดษตามกำลังของตน (ยถาพลสันโดษ)
ส่วนภิกษุหรือบุคคลใดที่ได้จีวรหรือผ้าที่ประณีตก็คิดว่าควรให้ผู้อื่นมีอาจารย์ มารดาบิดา เป็นต้นแล้วให้บุคคลเหล่านั้น ส่วนตัวเองก็ใช้ของๆ ที่ตัวเองใช้อยู่ก็ชื่อว่าสันโดษเช่นกัน เป็นความสันโดษตามความเหมาะสม (ยถาสารุปปสันโดษ )
ความสันโดษจึงเป็นคุณธรรมที่ควรอบรม เพราะเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสในชีวิตประจำวัน เป็นผู้ยินดีในของๆ ตนและเมื่อได้ของมาก็แบ่งให้ตามความเหมาะสม เพื่อประโยชน์กับผู้อื่นก็ชื่อว่าสันโดษ
เพาะอาศัยการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม เมื่อปัญญาเจริญขึ้นก็ย่อมเห็นประโยชน์ในการขัดเกลากิเลส แม้ความสันโดษก็จะเจริญขึ้น ซึ่งความสันโดษเป็นมงคล นำมาซึ่งความเจริญและเป็นธรรมเครื่องขัดเกลากิเลส เพราะฉะนั้นจึงไม่ได้หมายถึงสันโดษในกุศล แต่เป็นผู้เห็นประโยชน์ของการเจริญกุศลเพิ่มขึ้น
สันโดษ ความยินดีในของของตน ยินดีในสิ่งที่มีอยู่ ยินดีโดยชอบธรรม ไม่แสวงหาในทางที่ผิด, ความสันโดษ เป็นมงคลประการหนึ่งในมงคล ๓๘ ประการ เป็นคุณธรรมที่เป็นไปเพื่อความเจริญ เพราะเป็นเหตุละบาปธรรม อันมีการปรารถนาเกินประมาณหรือมักมากเป็นเหตุ ซึ่งจะเห็นได้ว่าสันโดษเป็นไปเพื่อขัดเกลาอกุศลธรรมในชีวิตประจำวัน ค่อย ๆ ขัดเกลาความติดข้อง
บุคคลผู้ที่มีความสันโดษจะอยู่ ณ ที่ใด ก็เป็นผู้อยู่อย่างสบาย ไม่มีความเดือดร้อนใจเนื่องจากยินดีในสิ่งที่ตนมีที่ตนได้ ไม่มีความกังวลใจใดๆเลย ซึ่งจะแตกต่างจากผู้ที่ไม่สันโดษ ไม่รู้จักพอ เต็มไปด้วยความต้องการ อย่างสิ้นเชิง เพราะผู้ไม่สันโดษเมื่อไม่ได้ ก็เดือดร้อนใจ ไม่พอใจ แต่ถ้าได้แล้ว ก็ติดข้องมากยิ่งขึ้น
เหตุสำคัญที่จะเกื้อกูลต่อความเป็นผู้สันโดษ ก็คือ การฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เมื่อปัญญาเจริญขึ้น ก็ทำให้เป็นผู้เห็นประโยชน์ของการขัดเกลากิเลสยิ่งขึ้น ก็จะเกื้อกูลให้เป็นผู้สันโดษได้ ขัดเกลาโลภะ ความติดข้องต้องการได้.