ในชีวิตประจำวันโทสะก็สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ เช่นในขณะที่โกรธไม่พอใจบุคคลบางคนแล้ว กล่าวคำที่ไม่น่าฟังกับบุคคลนั้นออกไป ขณะนั้นก็รู้ได้ว่าเป็นโทสะ นอกจากนั้นแล้วขณะที่น้อยใจเสียใจ หรือกลัว ไม่ว่าจะเป็นกลัวภัยในชีวิต กลัวอันตรายต่าง ๆ กลัวความเจ็บป่วยเป็นต้น ก็เป็นกิเลสประเภทโทสะ เพราะเป็นลักษณะที่ไม่ชอบในอารมณ์
ความสะดุ้งกลัว
ผู้ที่มีความสะดุ้งกลัว เพราะมีแต่ความปรารถนาให้ตนเองได้แต่สิ่งที่ดี อยากมีอยากได้ความสวัสดี แต่ที่แท้ไม่สวัสดี เพราะว่าความอยากไม่ได้นำมาซึ่งความสวัสดี เพราะความรักตนจึงมีความสะดุ้งกลัว ตั้งแต่เช้าตื่นขึ้นมาก็สะดุ้งกลัว กลัวโรคภัยไข้เจ็บ กลัวไม่แข็งแรง กลัวเป็นทุกข์ กลัวจะไม่สุข กลัวต่อภัยต่างๆ หาทางให้พ้นจากภัย
แต่จะพ้นภัยได้จริงๆ ก็ต้องพึ่งความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง ขณะที่เข้าใจจึงไม่กลัว กลัวเพราะไม่รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ ทุกขณะเป็นไป เป็นไปตลอดเวลา ขณะนี้ก็กำลังเป็นไป ทุกขณะเป็นเพียงสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ เกิดดับสืบต่อเป็นไปอยู่ตลอดเวลา ไม่มีเราที่จะสะดุ้งกลัวขณะที่รู้ความจริง ขณะที่ไม่รู้ก็สะดุ้งกลัว ขณะต่อไปจะเป็นอย่างไรก็ไม่มีใครรู้ได้ พรุ่งนี้ หรือแม้เย็นนี้ อาจประสบสิ่งที่ไม่ปราถนา ความเข้าใจที่ถูกจะไม่กลัว ปัญญารู้ความจริงเมื่อไร เมื่อนั้นก็ปลอดภัย ไม่กลัว
จิตเกิดขึ้นมีโทสะเจตสิกเกิดร่วมด้วย ในขณะนั้น จิตนั้นจึงเป็นอกุศลจิต เรียกว่า โทสะมูลจิต โทสะมูลจิตมีลักษณะหลายอย่าง เช่น ความโศกเศร้า ความขุ่นเคืองใจ ความโกรธ ความกลัว ล้วนแล้วแต่เป็นโทสะมูลจิต เพราะว่ามีความรู้สึกไม่สบายใจเกิดขึ้นในขณะนั้น แม้แต่ความกลัวดังนั้น โทสะมูลจิต เป็นจิตไม่ดี เป็นอกุศลจิต
ประโยชน์จริงๆ ที่ได้เกิดมาขอให้ได้เข้าใจธรรม ขณะนี้เป็นธรรมทั้งหมด ทุกขณะเป็นธรรมแต่ละหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นไป ไม่ใช่เรา ทุกขณะที่เกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้น ไม่มีเรา ทั้งหมดอยู่ที่ความเข้าใจ ถ้ามีเหตุต้องเป็นไปก็ยับยั้งไม่ได้ แต่ขณะที่เข้าใจธรรมไม่ได้นำไปสู่ความสะดุ้งกลัว ทุกขณะที่อกุศลเกิดคือสะดุ้งกลัว ผู้ไม่ศึกษาธรรมเมื่อตื่นขึ้นมาก็คิดว่าตนเองไม่เห็นสะดุ้งกลัวอะไรเลย เพราะว่าเขาไม่รู้ว่าตนเองไม่รู้ ตื่นขึ้นมาก็อยากเห็นแต่สิ่งที่ดี หวังได้พบ ได้เห็นสิ่งที่ดี ๆ ขณะใดที่ไม่รู้ ขณะนั้นจะพ้นความกลัวไม่ได้เลย เพราะไม่รู้ตามความเป็นจริงว่า มีอะไรที่ไหน นอกจากสิ่งที่มีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แล้วก็ไม่เหลืออะไรเลย ไปแล้วไปลับ ไม่กลับมาอีกเลยสักอย่างเดียว แล้วยังจะหวังอะไร แล้วยังจะเยื่อใยอะไร แล้วยังต้องการให้เป็นอะไร เพราะว่าที่จริงแล้ว ก็มี ๒ อย่าง คือ เป็นผู้ไม่รู้ความจริง กับเป็นผู้รู้ความจริงเท่านั้นเอง
การเกิดมามีชีวิต ก็คือขอให้ได้เข้าใจธรรมะ ต้องปรารถนาว่า ขอให้รู้ทั่วธรรมะที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ขณะนี้เป็นธรรมะทั้งหมด ไม่ได้รู้ทั่ว และบางคนไม่คิดจะรู้ด้วย จะรู้ไปทำไม ไปทำอะไรก็ได้ หวังว่าจะรู้ แต่ไม่จริง เพราะเหตุว่าทุกขณะเป็นธรรมะแต่ละหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเป็นอย่างนี้ แล้วก็หมดไป แล้วจะเลือกรู้บางอย่างก็คือไม่ตรง ไม่สามารถจะรู้ความจริงได้ ถ้าเลือกคือเราเลือก แล้วไม่เห็นประโยชน์ด้วยว่า ขณะที่เลือกเพราะอวิชชา เพราะไม่รู้ตามความเป็นจริงว่า เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างขณะนี้มีจริงๆ แต่ปรารถนาจะรู้ทั่วธรรมะที่ทรงแสดงซึ่งก็เป็นความจริงในขณะนี้.