คนเราเกิดมา เราเห็นคนที่ต่างกัน คนดี คนชั่ว แสดงว่าก่อนจะชั่วอย่างที่คนอื่นเห็น ก็ต้องสะสมความไม่ดีทีละเล็กทีละน้อย และคนดีก็เช่นเดียวกัน ก็ต้องสะสมคุณความดีทีละเล็กทีละน้อยไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ก็เกิดมาเป็นอย่างนั้นได้ เพราะฉะนั้น ขณะที่กุศลจิตเกิด หรืออกุศลจิดเกิด ก็สะสมจนเป็นอุปนิสัยที่จะเป็นคนดี หรือชั่วในภายหน้า
โทสะในชีวิตประจำวัน
การที่จะละคลายโทสะให้เบาบางลงนั้น ก็จะต้องรู้ว่าโทสะมีลักษณะอย่างไร จะเกิดขึ้นขณะไหน มีอะไรเป็นอารมณ์ ถ้าไม่รู้ธรรมที่จะต้องละ จะละได้อย่างไร แต่เมื่อต้องการที่จะละ ก็จะต้องรู้จักสภาพของอกุศลธรรมนั้น ให้ละเอียดขึ้น เพื่อที่จะรู้ว่าเป็นสภาพที่ เป็นอกุศลธรรม ที่น่ารังเกียจ
ต้องทราบว่า โทสะไม่ใช่ในขณะที่โกรธหรือไม่พอใจเท่านั้น พอได้ยินคำว่าโทสะ ทุกคนก็คิดถึงความขุ่นเคืองใจ ความไม่พอใจหรือความโกรธ แต่ให้ทราบว่า ในขณะใดที่รู้สึกไม่สบายใจ เป็นโทมนัสเวทนาเวทนา ความรู้สึกนี้ ทุกข์ โทมนัส ไม่ดีไม่สบายใจ ขณะนั้นต้องมีโทสะเจตสิก เกิดร่วมด้วยทุกครั้ง
ดังนั้น ลักษณะอาการของ โทสะเจตสิก ก็ไม่ใช่แต่เฉพาะในขณะที่ขุ่นเคืองใจ หรือไม่พอใจเท่านั้น แต่ให้ทราบว่าในขณะที่กลัว ตกใจ กังวลใจ โศรกเศร้า เสียใจ เดือดร้อนใจ น้อยใจ เบื่อ ท้อถอย หงุดหงิด รำคาญกลุ้มใจ วิตกกังวล หดหู่ หรือแม้แต่ คิดมาก ขณะนั้นควรพิจารณาดูว่า ความรู้สึกดีหรือไม่ดี เพราะว่าส่วนใหญ่จะบอกว่า คิดมากไป เป็นทุกข์ ก็แสดงให้เห็นว่าเรื่องที่คิดในขณะนั้น ต้องเป็นเรื่องที่ทำให้จิตใจไม่สบาย นั่นก็เป็น ลักษณะของโทสะ
ขณะใดที่รู้อารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ เช่นเห็นสี่งที่ไม่น่าพอใจทางตา หรือว่า ได้ยินเสียงที่ไม่น่าพอใจทางหู ได้กลี่นที่ไม่น่าพอใจ ลิ้มรสที่ไม่น่าพอใจ กระทบสัมผัสสี่งที่ไม่น่าพอใจ ทุกขณะนั้นเป็นโทสะมูลจิต มีโทสะเจตสิกเกิดร่วมด้วยแล้ว ไม่จำเป็นที่จะต้องโกรธหรือว่าไม่พอใจ ขุ่นเคืองใจเฉพาะในสัตว์ บุคคล เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นสี่งใดๆ ก็ตามถ้าในวันหนึ่งๆ ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียด จะสังเกตลักษณะของความไม่พอใจแม้เพียงเล็กน้อยได้ เช่น ทุกคนก็จะต้องบริโภคอาหารเป็นประจำ ขณะที่เห็นผักหรือเห็นผลไม้เสีย ขณะนั้นเป็นอย่างไร ชอบหรือไม่ชอบ ไม่ใช่คน สัตว์ เพียงแต่เห็นสี่งที่ไม่น่าพอใจ เป็นผักหรือผลไม้ ที่ไม่น่ารับประทานเท่านั้น จิตในขณะนั้น เป็นอกุศล มีโทสะเจตสิกเกิดร่วมด้วย
ถ้าเป็นอย่างนี้ จะดับโทสะ ง่ายหรือยาก เพียงทันทีที่เห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ แม้เล็กน้อย โทสะเจตสิกก็เกิดกับอกุศลจิตนั้น ทำให้เป็นโทสะมูลจิต เวลาได้ยินเสียงดัง อาจจะเป็นเสียงเพลงแต่ว่าดังไปขณะนั้น โทสะมูลจิตก็เกิดแล้ว ขณะที่ได้กลิ่น ผ่านบางแห่ง บางสถานที่จะมีกลิ่นขยะ หรือว่า กลิ่นน้ำเน่า กลิ่นสี่งปฏิกูล ขณะนั้นก็เป็นโทสะมูลจิต
บริโภคอาหารทุกวัน เปรี้ยวไป เค็มไป หวานไปหน่อย หรือว่าเผ็ด ขณะนั้น โทสะมูลจิตก็เกิดแล้ว หรือขณะที่มีชีวิตอยู่ทุกวันนี้ อากาศร้อน ไม่พอใจแล้ว หรือว่าพายุฝน ต่างๆ เหล่านี้ ก็แสดงให้เห็นว่าความไม่พอใจ ความขุ่นเคืองใจนี้ มีปัจจัยที่จะเกิดขึ้น อย่างรวดเร็วจริงๆ ถ้าไม่สังเกตจะคิดว่า เป็นแต่เพียงในขณะที่โกรธเคืองขุ่นข้องใจกับสัตว์ บุคคลต่างๆ เท่านั้น แต่ความจริงไม่ใช่ จะต้องเป็นผู้ละเอียด ที่จะรู้ลักษณะของ โทสะจริงๆ แม้ในอารมณ์ ซึ่งไม่ใช่ สัตว์ บุคคล โทสะ ก็เกิดขึ้นได้
ดังนั้น ถ้าเป็นผู้ไม่ละเอียด ก็ไม่เห็นโทษของโทสะที่เกิดขึ้นแม้เพียงเล็กน้อย ก็จะสะสมจนเป็นอุปนิสัย เป็นผู้มักโกรธ จนสามารถร่วงเป็นทุจริตกรรมได้.