Home » สังวร ๕

สังวร ๕

( Somboon )

by Pakawa

การฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมอบรม เจริญปัญญา ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ซึ่งเป็นหนทางเดียวเท่านั้น ที่จะเป็นเครื่องต้านทาน ป้องกันไม่ให้หลงงมงายเชื่อในสิ่งที่ผิดๆ เพราะมีความเข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง

สังวร ๕

ความสำรวม สังวรในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงการสำรวมภายนอกที่ทำสำรวม กิริยาสำรวม แต่สำรวม สังวร หมายถึง การสำรวมด้วยจิตที่เป็นกุศล มุ่งที่จิตเป็นสำคัญ ซึ่งการสำรวม หรือ สังวรนั้นมี ๕ ประการ คือ
๑. ปาฏิโมกขสังวร คือ การประพฤติงดเว้นและปฏิบัติตามพระวินัยบัญญัติของพระภิกษุ ชื่อว่า เป็นศีล
๒. สติสังวร คือ การมีสติระลึกลักษณะของสภาพธรรม ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ชื่อว่า สติสังวร เป็นศีล
๓. ญาณสังวร ปัญญาเกิด ละกิเลส ชื่อว่า สังวรด้วยปัญญาและการพิจารณาสิ่งที่ได้มาที่เป็นปัจจัย มี อาหาร เป็นต้นของพระภิกษุ พิจารณาด้วยปัญญาแล้วจึงบริโภค ก็ชื่อว่า ญาณสังวร เป็นศีลในขณะนั้นด้วยครับ คือ ปัจจยสันนิสิตตศีล
๔. ขันติสังวร ความเป็นผู้อดทนต่อหนาวและร้อน เป็นต้น ชื่อว่า สำรวมด้วยขันติ
๕. วิริยสังวร คือ ปรารภความเพียรไม่ให้อกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว เจริญขึ้น เป็นต้น ชื่อว่าสำรวมด้วยวิริยะ
สังวรทั้ง ๕ อย่างนี้ เป็นส่วนหนึ่ง ของวินัย ที่เป็น สังวรวินัย ซึ่ง สีลสังวร ก็คือการสำรวมด้วยศีล ถ้าเป็นคฤหัสถ์ก็ศีล ๕ ถ้าเป็นบรรพชิต ก็สิกขาบท สีลสังวร เป็นวินัย เพราะ กำจัดกิเลสที่หยาบทางกาย วาจา สติสังวร คือ การสำรวมด้วยสติ คือ ขณะที่สติปัฏฐานเกิด รู้ลักษณะสภาพธรรม ทางตา ทางหู.. ทางใจ ญาณสังวร การสำรวมด้วยปัญญา ขันติสังวร การสำรวมด้วยขันติ และ วิริยสังวร การสำรวมไม่ให้กิเลสเกิดด้วย วิริยะ จะเห็นว่า ที่กล่าวมา ล้วนแล้วแต่เป็นสภาพธรรมที่เป็นเครื่องกำจัดกิเลส ที่เป็นอรรถ ความหมายของวินัย
ศีลนั้นก็มีหลากหลายนัย ศีล หมายถึง ความประพฤติที่งดเว้นทางกาย วาจา ก็ได้ (วารีตศีล) ศีล ยังหมายถึง การประพฤติสิ่งที่สมควรทางกาย วาจา (จารีตศีล) มีการเลี้ยงดู มารดา บิดา เป็นต้น และศีล ยังหมายถึง ความเป็นปกติ ที่เป็นทั้งกุศลศีล อกุศลศีล แต่เมื่อกล่าวโดย ศีลที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติเพื่อละกิเลส ย่อมมุ่งหมายถึง กุศลศีล ดังนั้น ศีลที่งดเว้นทางกาย วาจา ก็เช่น ศีล ๕ ศีล ของพระภิกษุ จึงชื่อว่า สีลสังวร
ในพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงในพระไตรปิฎก ทรงแสดง ว่า ศีล มี ๔ อย่าง คือ เจตนเป็นศีล เจตสิกเป็นศีล ความสำรวมสังวรเป็นศีล อาการไม่ก้าวล่วงเป็นศีล
เจตนาเป็นศีล หมายถึง เจตนาที่งดเว้นจาก การฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม เป็นต้น เช่น ยุงกัด ก็ไม่ตบ ขณะที่งดเว้น ไม่ตบในขณะนั้น ก็เป็น ศีล ที่เป็นเจตนาศีล เจตนางดเว้นจากการฆ่าสัตว์
เจตสิกเป็นศีล คือ การงดเว้นจากความโลภ (อนภิชฌา) งดเว้นจากการพยาบาท (อพยาบาท) และ มีความเห็นถูก (สัมมาทิฏฐิ) ชื่อว่า เจตสิกศีล
การสำรวมเป็นศีล ก็คือการสำรวม ๕ ประการ ชื่อว่า สีลสังวร
การไม่ก้าวล่วงเป็นศีล คือ เจตนาสมาทานศีล หรือที่ถือเอาด้วยดี ด้วยตั้งใจที่จะขอรักษาศีล เช่น ไปต่อหน้าพระ และขอสมาทานจะรักษาศีล ขณะนั้นมีเจตนาที่จะประพฤติ รักษากาย วาจาที่เป็นไปด้วยดี ชื่อว่า เป็นศีล เพราะ มีความไม่ก้าวล่วงด้วยการสมาทานศีล จึงเป็นศีล
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ – หน้าที่ 588
ในบทว่า สํรโร สีลํ ความสำรวมเป็นศีลนี้ พึงทราบความสำรวมมี ๕ อย่าง คือ ปาติโมกขสังวร ความสำรวมในปาติโมกข์ ๑ สติสังวร ความสำรวมในสติ ๑ ญาณสังวร ความสำรวมในญาณ ๑ ขันติสังวร ความสำรวมในขันติ ๑ วีริยสังวร ความสำรวมในความเพียร ๑.
ในความสำรวม ๕ อย่างนั้น ภิกษุเข้าถึงเสมอด้วยความสำรวมในปาติโมกข์นี้ นี้ชื่อว่า ปาติโมกขสังวร. ภิกษุรักษาจักขุนทรีย์, ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์นี้ ชื่อว่า สติสังวร… ความสำรวมมาแล้วโดยนัยมีอาทิว่า อุปปนฺนํ กามวิตกฺกํ นาธิวาเสติ ภิกษุอดกลั้นกามวิตกที่เกิดขึ้น นี้ชื่อว่า วีริยสังวร. แม้ว่าอาชีพบริสุทธิ์ก็รวมเข้าในบทนี้ด้วยเหมือนกัน. ความสำรวม ๕ อย่างนี้ด้วยประการฉะนี้, อนึ่ง เจตนาเว้นจากวัตถุที่มาถึงของกุลบุตรผู้กลัวบาป, พึงทราบว่าทั้งหมดนั้นเป็น สังวรศีล.

You may also like

Leave a Comment

ช่องทางติดตามข่าวสาร

Copyright @2024  All Right Reserved – Buddhawisdomfoundation Buddhawisdom

-
00:00
00:00
Update Required Flash plugin
-
00:00
00:00