Home » สติสัมปชัญญะ

สติสัมปชัญญะ

( Somboon )

by Pakawa

ธรรมทั้งหลายทั้งปวง เป็นอนัตตา คือ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร การศึกษาพระธรรมฟังพระธรรม ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของปัญญาซึ่งเป็นความเข้าใจถูก เห็นถูก จากที่ไม่เคยรู้มาก่อน ก็จะค่อย ๆ รู้ขึ้นไปตามลำดับ

สติสัมปชัญญะ

เมื่อกล่าวถึงคำอะไร ก็ต้องมีความเข้าใจในคำนั้น ๆ ให้ชัดเจนจริง ๆ ก่อนอื่นก็ต้องกล่าวถึง สติสัมปชัญญะ ในภาษาไทยที่ใช้กันทั่วไปที่เข้าใจกัน หมายถึง เป็นผู้มีสติไม่ฟั่นเฟือน หรือมีสติในการทำงานต่างๆ ไม่หลงลืม หรือเป็นผู้ไม่เผอเลอไม่ประมาท เช่น เดินข้ามถนนรถไม่ชน เป็นต้น ส่วนใหญ่ก็ไม่เป็นไปในกุศลแต่อย่างใด ซึ่งไม่ตรงกับความหมายที่แท้จริงในทางพุทธ
สติ กับ สัมปชัญญะ ต่างก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป เป็นนามธรรม ไม่ใช่รูปธรรม สติ เป็นสภาพธรรมที่ระลึกเป็นไปในกุศล เกิดร่วมกับจิตที่ดีงามทุกประเภทไม่มีเว้น ส่วนสัมปชัญญะ เป็นอีกชื่อหนึ่งของปัญญา เป็นความไม่หลง เป็นความรู้ถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง สติสัมปชัญญะ มักจะเป็นคำที่ใช้คู่กัน โดยจะใช้ในเรื่องของการอบรมเจริญภาวนา ๒ อย่าง คือ การอบรมเจริญความสงบของจิต ที่เป็นสมถภาวนา และการอบรมปัญญาที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ที่เป็นวิปัสสนาภาวนา หรือ สติปัฏฐาน เพราะตามความเป็นจริงแล้ว สติเกิด โดยไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยก็ได้ แต่เมื่อสัมปชัญญะเกิดก็จะต้องมีสติเกิดร่วมด้วยเสมอ ขณะนี้มีสภาพธรรมที่มีจริงเกิดขึ้นเป็นไปอยู่ตลอด เมื่ออาศัยเหตุที่สำคัญ คือ การฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ก็จะเริ่มเข้าใจความเป็นจริงของสภาพธรรมยิ่งขึ้นว่า ทุกขณะมีแต่ธรรมเท่านั้น ไม่มีเราแทรกอยู่ในสภาพธรรมเหล่านั้น เมื่อเหตุปัจจัยพร้อมก็ย่อมจะเป็นปัจจัยให้สติสัมปชัญญะ เกิดขึ้นได้ โดยที่สติทำกิจระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง และปัญญาทำกิจรู้ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น ๆ เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยจริง ๆ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น สติเป็นสติ ไม่ใช่ปัญญา ปัญญาเป็นปัญญา ไม่ใช่สติ
    จากความเข้าใจเบื้องต้น ก็เข้าใจได้ว่า สติ เป็นสภาพธรรมที่ระลึกเป็นไปในกุศล จะไม่เกิดกับอกุศล ถ้าไม่ได้เป็นกุศลอย่างหนึ่งอย่างใด ขณะนั้นก็ไม่มีสติเกิดร่วมด้วย แม้ในขณะที่ใช้คำว่า ระลึกได้ว่าเก็บอะไรไว้ตรงไหน ระลึกถึงคำที่พูดได้ เป็นต้น อาจจะเป็นไปกับอกุศลที่เป็นโลภะก็ได้ หรือ เป็นกุศลก็ได้ ถ้าเป็นเหตุให้กุศลเกิดขึ้นเป็นไปในกุศล ขึ้นอยู่กับสภาพจิตเป็นสำคัญความเกิดขึ้นเป็นไปของจิตขณะนั้น
สัมปชัญญะ ซึ่งเป็นชื่อหนึ่งของปัญญา ความเห็นถูก เป็นปัญญาเจตสิก ซึ่งความหมายของความรู้สึกตัว คือ การรู้ความจริงของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฎว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา ในขณะที่ยืน เดิน นั่ง นอน ในอิริยาบถใด อิริยาบถหนึ่ง แต่ไม่ใช่ การรู้สึกตัวว่ากำลังทำอะไร เช่นรู้สึกตัวว่ากำลังยืน กำลังเดิน อย่างนี้ไม่ใช่ สัมปชัญญะที่เป็นปัญญา เพราะไม่ได้มีความเห็นถูก และไม่ได้เป็นจิตที่เป็น กุศลในขณะนั้น แม้เด็ก หรือ ผู้ที่ไม่ได้ฟังพระธรรมก็มีความรูสึกตัวว่ากำลังทำอะไรได้ แต่ไม่ใช่ สัมปชัญญะที่เป็นความรู้สึกในการอบรมปัญญา ที่เป็นวิปัสสนา 
    ขณะใดไม่ได้เป็นไปในกุศลที่เป็นไปในเรื่องของทาน เรื่องของศีล เรื่องของการอบรมเจริญปัญญา ขณะนั้น ไม่ใช่กุศล ไม่มีทั้งสติและไม่มีทั้งปัญญา จะกล่าวว่า มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมไม่ได้ เพราะคำว่ารู้สึกตัวทั่วพร้อมจริง ๆ ในทางพระพุทธศาสนา คือ สติสัมปชัญญะ ขณะที่ระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง จะเห็นได้ว่าความเป็นจริงของสภาพธรรม ไม่เคยเปลี่ยน เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น
สติปัฏฐาน คือ สติและปัญญาที่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา อันเป็นการเจริญวิปัสสนา สติปัฏฐาน ก็ไม่พ้นจากความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เป็นจิต และเจตสิกที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา และ เจตสิกอื่น ๆ อีกมายมาย ดังนั้น ก็ประกอบด้วยสภาพธรรมที่เป็น จิต ที่เป็นใหญ่ในการรู้ และ ประกอบด้วยเจตสิก อย่างน้อย ๑๙ ดวง ที่เป็นโสภณสาธารณะเจตสิก และประกอบด้วย สัพพจิตสาธารณะเจตสิก อีก ๗ ดวง และ ปกิณณกเจตสิก และที่ขาดไม่ได้เลย คือ ปัญญา ที่เป็นอโมหะเจตสิก ที่เป็นสภาพธรรมที่รู้เห็นตามความเป็นจริง
การศึกษาพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกตั้งแต่ต้นเป็นทางที่จะมีปัญญาเจริญขึ้นในขั้นต่อไป ที่เป็นขั้นระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง จนถึงขั้นประจักษ์แจ้งความจริงดับกิเลสตามลำดับขั้นได้ ไม่หลงผิดทำตามๆ กัน โดยไม่มีความรู้ความเข้าใจ.

You may also like

Leave a Comment

ช่องทางติดตามข่าวสาร

Copyright @2024  All Right Reserved – Buddhawisdomfoundation Buddhawisdom

-
00:00
00:00
Update Required Flash plugin
-
00:00
00:00