Home » สติปัฏฐาน ถ้าไม่เข้าใจก็หลงผิด

สติปัฏฐาน ถ้าไม่เข้าใจก็หลงผิด

( Somboon )

by Pakawa

สติปัฏฐาน จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมาจากการศึกษา ลักษณะสภาวะธรรมทั้งหลายโดยละเอียดและถูกต้อง จนเป็นความรู้ความเข้าใจเสียก่อน ดังนั้นการที่พยายามไปจดจองดัวยความต้องการ แม้มีสภาวะธรรมเกิดขึ้นในขณะนี้ก็ไม่สามารถที่จะรู้จะเข้าใจได้ถ้าไม่มีความเข้าใจขั้นพื้นฐานมาก่อน

สติปัฏฐาน ถ้าไม่เข้าใจก็หลงผิด

ต้องทราบว่าสติคืออะไร สติเป็นโสภณเจตสิก ไม่ใช่จิต แต่เกิดกับจิต เป็นสภาพธรรมะฝ่ายดี หมายความถึงขณะใดที่เกิดสติ สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมะโดยประการที่เป็นกุศลขั้นต่างๆ เช่น สติที่เป็นไปในทาน มีการระลึกที่จะให้สิ่งที่เป็นประโยชน์กับคนอื่น เพราะเหตุว่าวันหนึ่งๆ เราก็มีอกุศลมาก แล้ววันไหนจะให้อะไรใคร ถ้าสติไม่เกิด ไม่มีการให้แน่นอน ไม่มีการที่จะเป็นกุศล คิดถึงประโยชน์สุขของคนอื่น แล้วก็ต้องการให้สิ่งนั้น เพื่อเขาจะได้มีความสุข เพราะฉะนั้น ก็เป็นสภาพธรรมะ ลักษณะของสติจะต้องเป็นธรรมะฝ่ายดี แม้เป็นไปในเรื่องของทาน แม้เป็นไปในเรื่องของศีล แม้เป็นไปในเรื่องความสงบของจิต แต่ขณะที่เป็นสติปัฏฐาน ต้องเป็นเรื่องของการที่เคยฟังธรรมะ จนกระทั่งมีความเข้าใจจริง ๆ ว่าทุกอย่างในขณะนี้มีจริง เป็นสภาพธรรมะแต่ละอย่าง ๆ เฉพาะอย่าง เช่น สิ่งที่ปรากฏทางตา มี เห็นก็มี แต่ไม่เคยรู้ความจริงของเห็นและสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะพอเห็นแล้วก็จำได้เลยว่า เป็นอะไร เป็นเรื่องราว เป็นชื่อของสิ่งของต่างๆ เป็นของคนต่างๆ เรื่องราวที่ตามมาจากการเห็นเยอะมาก จึงไม่ได้รู้ความจริงของเห็น แล้วสิ่งที่ปรากฏ
     สติปัฏฐาน จะเกิดได้ต่อเมื่อมีความเข้าใจในสภาพธรรมจริงๆ ไม่ใช่เป็นตัวตนซึ่งเราจะทำให้สติปัฏฐานเกิด เพื่อเราจะได้รู้การเกิดดับของสภาพธรรม เพื่อเราจะได้หมดกิเลส นั่นเป็นเราทั้งหมด ไม่ใช่ปัญญา แต่ถ้าเป็นปัญญาจะรู้ถึงเหตุ จะรู้ถึงลักษณะว่า สติปัฏฐานไม่ใช่ตัวตน แล้วเมื่อไรที่มีการระลึกจากการฟังแล้วเข้าใจว่า ขณะนี้หรือขณะไหนก็ตามทั้งหมดเป็นธรรมะ มีลักษณะปรากฏจริงๆ แล้วไม่ใช่เป็นการบังคับด้วย แต่มีปัจจัยที่มีการระลึกลักษณะของธรรมะที่กำลังปรากฏ อย่างเรื่องเจ็บปวด ถ้าปวดไม่เกิด จะระลึกลักษณะของปวด ไม่ได้เลย แต่ปวดเกิดแล้วไม่ระลึกก็ได้ เพราะว่าไม่มีปัจจัยที่สติปัฏฐานจะเกิดระลึก เพียงแต่ฟังแค่นี้ แล้วก็หวังว่า พอปวดขึ้นมาเมื่อไร ก็จะให้สติปัฏฐานระลึก นั่นคือความเป็นเราที่มีความหวัง แต่ว่าไม่ใช่เป็นปัญญาที่รู้จริงๆ ว่าเวลาที่สติปัฏฐานระลึกคือลักษณะอย่างไร คือไม่ใช่มีการบังคับ แล้วไม่ใช่มีเราจะทำ แต่ว่าเมื่อสติปัฏฐานเกิดก็ทำหน้าที่ คือ ลักษณะของสภาพธรรมะที่กำลังปรากฏ
     ทุกอย่างที่เป็นธรรมะ เราไม่ต้องแยกเป็นกาย เวทนา จิต ธรรม ก็ได้ เพราะว่าทุกอย่างเป็นธรรมะ แต่ที่ทรงแยกไว้เป็นประเภท ก็เพราะเหตุว่ามีการยึดถือสภาพธรรมะนั้นๆ ก็ควรจะได้พิจารณาสภาพธรรมะนั้นๆ เป็นส่วนๆ ไป เท่านั้นเอง
ถ้าไม่มีความเข้าใจถูก มั่นคงตามลำดับแล้วได้ยินคำว่า “สติปัฏฐาน” ก็หลงทาง เพราะคิดว่าจะต้องไปทำ หรือว่าทำแล้ว ปัญญาจะเกิด แต่จริงๆแล้วทั้งหมดของพระธรรม เพื่อให้เกิด ความเข้าใจถูก เห็นถูกตามลำดับขั้นในสิ่งซึ่งกำลังปรากฏ ถ้ามี การพูดเรื่องสติปัฏฐาน แล้วก็มีการเชิญชวนให้มีการปฏิบัติ แล้วก็ คิดว่าอย่างนั้นเป็นสติ อย่างนี้เป็นสติ อย่างนี้เป็นกาย ต้องรู้ที่กาย อย่างนี้เป็นความรู้สึก ต้องรู้ที่ความรู้สึก นั่นไม่ใช่ความเข้าใจที่ถูก.

You may also like

Leave a Comment

ช่องทางติดตามข่าวสาร

Copyright @2024  All Right Reserved – Buddhawisdomfoundation Buddhawisdom

-
00:00
00:00
Update Required Flash plugin
-
00:00
00:00