Home » ภิกษุในธรรมวินัย

ภิกษุในธรรมวินัย

( Somboon )

by Pakawa

เราท่านผู้เป็น อุบาสก อุบาสิกา ก็ควรศึกษาพระธรรมวินัย ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงทรงบัญญัติไว้ ไม่เป็นผู้ล่วงละเมิดพระวินัย ไม่ถวายเงินแก่พระภิกษุ ไม่ส่งเสริมพระภิกษุทุศีล ดำรงรักษาพระวินัย และพระศาสนาอันดีงามเอาไว้ ช่วยกันเผยแพร่พระธรรมวินัย ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ดีแล้วออกไป ก็ชื่อว่าดำรงพระศาสนา

ภิกษุในธรรมวินัย

พระธรรมวินัย ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อการกำจัดกิเลสที่แต่ละบุคคลได้สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ แต่ถ้าไม่ได้ศึกษา ไม่ได้เข้าใจถูกต้องตรงตามพระธรรมวินัยแล้วโอกาสที่จะกระทำผิด ก็ย่อมจะมีได้ หรือ ในอีกกรณีหนึ่ง คือ ทั้ง ๆ ที่รู้ว่า เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องไม่ตรงตามพระธรรมวินัย แต่ก็มีเจตนาที่จะล่วงละเมิดสิกขาบทนั้น ๆ เพราะกำลังของกิเลส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือความไม่ละอาย ความไม่เกรงกลัวต่ออกุศล นั่นเอง สำหรับเงินและทองนั้น เป็นสิ่งที่ไม่สมควรแก่เพศพระภิกษุ โดยประการทั้งปวงเป็นเครื่องเศร้าหมองของบรรพชิตจริง ๆ ทำให้เกิดความติดข้อง ไม่ต่างอะไรกับคฤหัสถ์ เพราะพระภิกษุ รับเงินและทอง ไม่ได้ เป็นอาบัติ ไม่ว่าจะรับเพื่อตนหรือ เพื่อสิ่งอื่น เช่น สร้างกุฏิ สร้างพระอุโบสถ เป็นต้น ก็เป็นอาบัติ ถ้ารับเมื่อใด ไม่ว่ากรณีใด ๆ ล้วนไม่พ้นจากอาบัติ ชีวิตพระภิกษุ เป็นชีวิตที่ขัดเกลาเป็นอย่างยิ่ง เงินทองไม่จำเป็นสำหรับพระภิกษุ พระภิกษุผู้ที่ไม่ละอาย ไม่เคารพยำเกรงในพระธรรมวินัย ก็มีการล่วงสิกขาบทต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก็คือ การรับเงินรับทอง 
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๑ ภาค ๓ – หน้าที่ ๙๔๐ พระบัญญัติ
๓๗. อนึ่ง ภิกษุใด รับก็ดี ให้รับก็ดี ซึ่งทอง เงิน หรือ ยินดีทอง เงิน อันเขาเก็บไว้ให้ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.
พระภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ไม่รับเงินและทอง รับเงินและทองไม่ได้ เป็นผู้ปราศจากเงินและทองอย่างสิ้นเชิง เพราะท่านเหล่านั้น ต้องสละทรัพย์สินเงินทองก่อนบวชแล้ว ดังนั้น เมื่อบวชเป็นพระภิกษุแล้ว จึงรับเงินและทองไม่ได้ เงินทองไม่ควรแก่เพศบรรพชิตโดยประการทั้งปวง ไม่มีพระพุทธดำรัสแม้แต่คำเดียวที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสให้พระภิกษุรับเงินและทอง หรือไปแสวงหาเงินและทอง ตามข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ มณิจูฬกสูตร ว่า
“ทองและเงินไม่ควรแก่สมณศากยบุตร สมณศากยบุตรย่อมไม่ยินดีทองและเงิน สมณศากยบุตร ห้ามแก้วและทอง ปราศจากทองและเงิน… เรามิได้กล่าวว่า สมณศากยบุตรพึงยินดี พึงแสวงหาทองและเงินโดยปริยายอะไรเลย”
การรับเงินรับทอง เป็นอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ การที่จะแสดงอาบัติข้อนี้ ให้ตนเองเป็นผู้พ้นจากอาบัติได้ ต้องมีการสละให้ถูกต้องตามพระวินัยเสียก่อน แล้วจึงจะแสดงอาบัติตก แต่ถ้าไม่ทำการสละเลย แล้วแสดงอาบัติ ก็ไม่พ้นจากอาบัติเป็นผู้มีอาบัติติดตัว เป็นอันตรายมากในเพศบรรพชิต เพศบรรพชิตต้องเคารพพระธรรมวินัย ถ้าต้องการเงิน ต้องการใช้เงิน ไม่ต้องบวช เพราะจุดประสงค์ที่แท้จริงในการบวช ก็เพื่อขัดเกลากิเลส เท่านั้น ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่นเลย อาบัติหนักที่สุด คือ อาบัติปาราชิก เมื่อต้องเข้าแล้ว ขาดความเป็นพระภิกษุทันทีแต่ก็ไม่ใช่ว่าอาบัติกองอื่น ๆ จะไม่มีโทษ ย่อมมีโทษด้วยกันทั้งนั้น  มีโทษในขณะที่ต้องแล้ว ไม่ทำการออกจากอาบัติตามพระวินัย เพราะอาบัติที่ไม่ได้กระทำคืนนั้น เป็นเครื่องกั้นในการบรรลุมรรคผล นิพพาน และ ถ้าหากว่ามรณภาพไปในขณะที่ยังมีอาบัติอยู่ ก็เป็นผู้มีอบายเป็นที่ไปในเบื้องหน้า เท่านั้น
ดังนั้น เราท่านผู้เป็น อุบาสก อุบาสิกา ก็ควรศึกษาพระธรรมวินัย ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงทรงบัญญัติไว้ ไม่เป็นผู้ล่วงละเมิดพระวินัย ไม่ถวายเงินแก่พระภิกษุ ไม่ส่งเสริมพระภิกษุทุศีล ดำรงรักษาพระวินัย และพระศาสนาอันดีงามเอาไว้ ช่วยกันเผยแพร่พระธรรมวินัย ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ดีแล้วออกไป ก็ชื่อว่าดำรงพระศาสนา.

You may also like

Leave a Comment

ช่องทางติดตามข่าวสาร

Copyright @2024  All Right Reserved – Buddhawisdomfoundation Buddhawisdom

-
00:00
00:00
Update Required Flash plugin
-
00:00
00:00