Home » ปัญญาและความฉลาด

ปัญญาและความฉลาด

( Somboon )

by Pakawa

การศึกษาโดยละเอียดจะทำให้เราเริ่มเข้าใจถูก มีความเห็นถูกว่า แม้แต่การอบรมเจริญปัญญา ต้องเข้าใจความหมายจริงๆ ว่าเราไม่ใช่ไปทำอย่างอื่น ต้องเข้าใจว่า ปัญญา คือ ความเห็นถูก เป็นสภาพธรรมที่มีจริง อาศัยการฟัง และขณะที่ฟังก็ต้องฟังด้วยดี ด้วยความตั้งใจที่จะเข้าใจ

#ปัญญาและความฉลาด

ผู้ที่ฉลาด เรียนรู้ได้เร็วนั้น ในอดีตชาติมากมายนับไม่ถ้วน ได้มีการอบรมสะสม สิ่งนั้น เรื่องราวนั้น และการคิดด้วยเหตุผลมานับชาติไม่ถ้วน มากกว่า คนที่ไม่ฉลาด ที่เรียนรู้ได้ช้ากว่านั่นเอง ดังนั้น เหตุผลที่ทำให้มีความฉลาดทางโลกแตกต่างกัน เพราะสะสมเรื่องนั้น วิชาการนั้น ความคิดเป็นเหตุเป็นผลมามากกว่า จึงเป็นผู้ฉลาดในทางโลกมากกว่าผู้อื่น ซึ่งไม่ใช่เพียงชาตินี้ ในอดีตชาตินับไม่ถ้วน ทำให้แต่ละคนมีความถนัด แต่ละอย่างไม่เท่ากัน
     คนที่ฉลาดน้อยในทางโลก เพราะสะสมมาน้อยในเรื่องนั้นตามที่กล่าวมา และเมื่อพยายามฝึกฝน ก็ยังน้อยอยู่ดี เพราะเพียงสะสมเพิ่มเพียงชาตินี้เท่านั้น ก็ยังสะสมไม่มาก จึงทำให้ความฉลาดทางโลก ไม่ได้ก้าวกระโดดทันที เพราะเริ่มสะสมไปทีละน้อย ส่วนคนที่ฉลาดอยู่แล้ว ก็ไม่ใช่ว่าจะก้าวกระโดดมาฉลาดทันที แต่เขาสะสมความฉลาด หลักคิด เรื่องราวทางโลกมานับชาติไม่ถ้วนในอดีตชาติ จึงทำให้ฉลาดมาก เมื่อพบกับสิ่งที่เคยเรียนรู้ สะสมมาแล้วก็เรียนรู้ได้เร็ว ไม่ต้องฝึกมากก็เข้าใจได้เร็ว เพราะสะสมมามากแล้วในอดีตชาตินั่นเอง
      ความแตกต่างของ ปัญญาทางธรรมที่เป็นปัญญาจริงๆ ที่เป็นปัญญาเจตสิก คือ ความเห็นถูกตามความเป็นจริง ทำไมถึงแต่ละคนถึงแตกต่างกัน บางคนมีปัญญามาก มีปัญญาน้อย หรือไม่มีปัญญา ทุกอย่างก็ต้องมีเหตุ โดยนัยเดียวกัน ก็เพราะมีการสะสมสิ่งนั้น คือ สะสมความเข้าใจพระธรรม สะสมความเห็นถูกมามากน้อยแตกต่างกันไป
     ซึ่งเราก็ต้องเข้าใจก่อนว่า เหตุปัจจัยให้เกิดปัญญานั้น คืออะไร เหตุให้เกิดปัญญาแสดงหลายนัย ซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม การสอบถาม และการสนทนา เป็นเหตุให้เกิดปัญญา ซึ่งก็ต้องมีการฟังการศึกษาในสิ่งที่ถูกต้องคือ พระธรรมที่ถูกต้องด้วย ผู้ที่ในชาตินี้ฟังพระธรรมเข้าใจได้เร็ว หรือสามารถบรรลุธรรมได้ แสดงว่าเป็นผู้สะสมปัญญามามาก ก็เพราะในอดีตชาติ นับไม่ถ้วน มีการสะสม เหตุของปัญญา คือการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม และสอบถามสนทนา บ่อยๆ ในอดีตชาติมามากมาย นับไม่ถ้วน จึงทำให้ชาตินี้มีปัญญามาก ส่วนผู้มีปัญญาความเข้าใจน้อย ก็เพราะในอดีตชาติ สะสมการฟัง สอบถาม สนทนาในพระธรรมที่ถูกต้อง ยังไม่มาก ก็เป็นเหตุให้ปัญญายังมีไม่มาก ส่วนผู้ที่ไม่ได้สะสมเหตุ คือการฟังพระธรรมที่ถูกต้องเลย ก็ไม่มีปัญญาที่เป็น ความเห็นถูก แต่สะสมแต่ความเห็นผิด ดังนั้น ปัญญาแตกต่างกัน เพราะสะสมเหตุให้เกิดปัญญา แตกต่างกัน คือ สะสมมามาก ก็มีปัญญามาก สะสมมาน้อยก็มีปัญญาน้อย ไม่ได้สะสมมา ก็ไม่มีปัญญา แต่มีความเห็นผิดอย่างเดียว
ความเฉลียวฉลาดหลักแหลมในทางโลก เป็นศิลปะ  ความชำนาญในด้านนั้น ๆ ซึ่งต้องอาศัยความเพียรพยายามในการประกอบสะสมบ่อย ๆ เนือง ๆ เมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ก็ไม่พ้นไปจากความเกิดขึ้นเป็นไปของจิตและเจตสิกเลย ความเฉลียวฉลาดในทางโลก ไม่ใช่ปัญญา ไม่ใช่สภาพธรรมที่จะเป็นไปเพื่อการดับกิเลสได้เลย ต้องเป็นปัญญาในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ถึงจะสามารถดับกิเลสได้ สำหรับปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงนั้น ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เป็นไปเพื่อการดับกิเลสนั้น จะมีขึ้นได้ เจริญขึ้นได้ ต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สนทนา สอบถามจากกัลยาณมิตรผู้ที่มีปัญญา เป็นต้น ซึ่งจะต้องเป็นผู้เคยเห็นประโยชน์ของปัญญามาแล้ว ในชาติก่อน ๆ ก็ต้องเคยเป็นผู้เข้าไปนั่งใกล้กัลยาณมิตร ผู้มีปัญญา เพื่อฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก มาแล้ว จึงทำให้ชาตินี้ เป็นผู้เห็นประโยชน์ของปัญญา สนใจที่ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกต่อไป เมื่อฟังพระธรรมต่อไปบ่อย ๆ เนือง ๆ ปัญญาก็จะค่อย ๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับ
พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่า เหตุให้เกิดปัญญา คือการฟังเสียงโฆษณาที่ถูกต้อง จากบุคคลใดก็ตาม และ มีการพิจารณาไตร่ตรอง ย่อมเกิดปัญญา เพราะฉะนั้นเหตุให้เกิดปัญญา ต้องอาศัย ปัจจัยสองประการ คือ ปัจจัยภายนอก คือการฟังธรรมจากสัตบุรุษ ที่เป็นพระธรรมที่ถูกต้อง และ ปัจจัยภายใน ที่สำคัญเช่นกัน คือ การพิจารณาไตร่ตรองธรรมที่เป็น โยนิโสมนสิการของตนเอง.

You may also like

Leave a Comment

ช่องทางติดตามข่าวสาร

Copyright @2024  All Right Reserved – Buddhawisdomfoundation Buddhawisdom

-
00:00
00:00
Update Required Flash plugin
-
00:00
00:00