เมื่อสะสมศรัทธาที่จะฟัง เห็นประโยชน์ของการได้เข้าใจความจริง ความเข้าใจก็จะค่อย ๆ เจริญขึ้น ความเข้าใจจะมีมากได้ ก็มาจากการสะสมไปทีละเล็กทีละน้อยนั่นเอง และที่สำคัญ เข้าใจธรรม ตามกำลังปัญญาของตนเอง สะสมการฟังต่อไป ซึ่งจะเป็นอุปนิสัยที่ดีทำให้ได้ฟังได้ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจต่อไปอีกในภายหน้า
ปริญญา ๓
การเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นการอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรมนั้น ทำให้เกิดปริญญาคือ ปัญญารอบรู้ ๓ ขั้น คือ ญาตปริญญา ตีรณปริญญา และ ปหานปริญญา
๑. ญาตปริญญา หมายถึง ปัญญารู้ยิ่ง ชื่อว่า ญาณ โดยความหมายว่าปรากฏอยู่แล้ว คือ รู้ยิ่ง ซึ่งนามและรูปพร้อมทั้งปัจจัย (ของนามและรูปนั้น มีจักขุปสาทรูป เป็นต้น) เริ่มตั้งแต่นามรูปปริเฉทญาณ เป็นภูมิพื้นเฉพาะของญาตปริญญานั้น
๒. ตีรณปริญญา หมายถึง ปัญญากำหนดรู้ ชื่อว่า ญาณ โดยความหมายว่าไตร่ตรอง ว่า “ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา” เริ่มตั้งแต่กลาปสัมมสนญาณจนถึงอนุโลมญาณ เป็นภูมิพื้นเฉพาะตีรณปริญญานั้น
๓. ปหานปริญญา หมายถึง ปัญญาในการปหานะ (การละ) ชื่อว่า ญาณโดยความหมายว่า ละทิ้งไป โดยนัย เป็นต้นว่า “ละนิจจสัญญา (ความหมายรู้ว่าเที่ยง) ด้วย อนิจจานุปัสสนา ดังนี้ เริ่มตั้งแต่ภังคานุปัสสนาญาณจนถึงมรรคญาณ เป็นภูมิพื้นเฉพาะปหานปริญญานั้น
ปริญญา ๓ ทั้งหมดเป็นเรื่องของปัญญา ซึ่งเป็นวิปัสสนาญาณเท่านั้น เวลานี้ความรู้ในขั้นฟังปริยัติ แต่ยังไม่รู้จักธรรม แม้คำว่า มีเห็นเกิดขึ้น ต้องมีสิ่งปรากฏให้เห็นก็ยังไม่รู้จัก ทั้ง ๒ อย่าง เพราะถ้ารู้ต้องเป็นสติสัมปชัญญะ ซึ่งหมายถึง อสัมโมหสัมปชัญญะไม่หลงผิด เข้าใจผิดในธรรมที่ปรากฏ แม้เห็นและสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ไม่ใช่เรากำหนดแต่เป็นสติสัมปชัญญะ มีปัจจัยเกิดรู้ลักษณะสภาพธรรม แต่นั่นก็ยังไม่ถึงญาตปริญญา เป็นแต่เพียง การอบรมเจริญสติสัมปชัญญะซึ่งเป็นเหตุเท่านั้น เพราะวิปัสสนาญาณนั้นเป็นผลของการ อบรมเจริญปัญญาที่สมบูรณ์แล้ว
ในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ – หน้าที่ 90 อรรถกถาญาตัฏฐญาณุทเทส แสดงไว้ว่า
บัดนี้ ปริญญา ๓ คือ การกำหนดรู้นามรูปโดยประเภทนั้นแล เป็นญาตปริญญา, ต่อจากนั้นก็เป็นตีรณปริญญา, ในลำดับต่อไปก็เป็นปหานปริญญา, และ ภาวนาการเจริญ และสัจฉิกิริยาการทำให้แจ้ง ก็ย่อมมีเพราะเนื่องด้วยปริญญา ๓ นั้น, ก็ปริญญา ๓ คือ ญาตปริญญา, ตีรณปริญญา และปหานปริญญา. ในปริญญาทั้ง ๓ นั้น ดังนี้ ปัญญาอันเป็นไปในการกำหนดลักษณะโดยเฉพาะๆ แห่งสภาวธรรมเหล่านั้นๆ อย่างนี้ว่า รูปมีการแตกดับไปเป็นลักษณะ, เวทนามีการเสวยอารมณ์เป็นลักษณะ ชื่อว่า ญาตปริญญา. วิปัสสนาปัญญาอันมีลักษณะเป็นอารมณ์ ยกสามัญลักษณะแห่งสภาวธรรมเหล่านั้น ๆ ขึ้นเป็นไปโดยนัยเป็นต้นว่า รูปํ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา รูปไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา, เวทนา อนิจฺจา ทุกฺขา อนตฺตา เวทนาไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาดังนี้ ชื่อว่าตีรณปริญญา. ก็วิปัสสนาอันมีลักษณะเป็นอารมณ์ เป็นไปด้วยสามารถแห่งการละวิปลาสทั้งหลาย มีนิจสัญญาวิปลาสเป็นต้น ในธรรมทั้งหลายเหล่านั้นเสียได้นั่นแล ชื่อว่า ปหานปริญญา.
บรรดาปริญญาทั้ง ๓ นั้น ตั้งต้นแต่สังขารปริจเฉทญาณ ญาณ ในการกำหนดสังขารธรรม จนถึงปัจจยปริคคหญาณ ญาณในการกำหนดสังขารธรรมโดยความเป็นปัจจัย เป็นภูมิของญาตปริญญา เพราะในระหว่างนี้ ความเป็นอธิบดีย่อมมีแก่พระโยคีบุคคลผู้แทงตลอด ลักษณะโดยเฉพาะๆ ของสภาวธรรมทั้งหลายได้. ตั้งแต่กลาปสัมมสนญาณ ญาณในการพิจารณาสังขารธรรมโดยกลาป จนถึงอุทยัพพยานุปัสสนาญาณ ญาณในการเห็นอยู่เนืองๆ ซึ่งการเกิดขึ้นและดับไปของสังขารธรรม เพราะในระหว่างนี้ ความเป็นอธิบดีย่อมมีแก่พระโยคีบุคคลผู้แทงตลอดสามัญลักษณะได้. ตั้งต้นแต่ภังคานุปัสสนาญาณ ญาณในการเห็นอยู่เนืองๆ ซึ่งความดับไปแห่งสังขารธรรมขึ้นไป เป็นภูมิแห่งปหานปริญญา.