ปรมัตถธรรมที่เกิดขึ้นเป็นเพียง จิต เจตสิก รูป แต่ละลักษณะ แต่ละอาการเป็นสภาพธรรมที่มีจริง ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลเลย ขณะใดที่ไม่รู้ลักษณะของจิต เจตสิก รูป ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เกิดขึ้นและดับไปสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว ขณะนั้นเป็นการรู้บัญญัติ เป็นเรา เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ด้วยอวิชชา คือความไม่รู้ที่สะสมมาเนิ่นนาน
#สังขารและภพในปฏิจจสมุปบาท
คำว่า สังขาร ในปฏิจจสมุปบาท หมายถึงอะไร สังขารในปฏิจจสมุปบาท ไม่ใช่หมายถึง ร่างกาย ไม่ได้หมายถึง สังขารธรรม คือสภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งทั้งหมด ที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม และไม่ได้หมายถึง สังขารขันธ์ ในขันธ์ ๕ ที่เป็นเจตสิก ๕๐ ประเภท แต่คำว่าสังขารในปฏิจจสมุปบาท หมายถึง อภิสังขาร คือ เจตนาเจตสิก ที่เป็นกรรม
ดังนั้น อภิสังขาร จึงเป็นกุศลเจตนา คือ กุศลกรรมระดับต่าง ๆ และอภิสังขารยังหมายรวมถึง อกุศลเจตนา คืออกุศลกรรมทั้งหมดด้วย ดังนั้น สังขาร ที่เป็น อภิสังขารจึงเป็นสภาพธรรมที่ปรุงแต่งให้เกิดวิบาก จึงมี ๓ ดังนี้
๑. เจตนาที่เป็นไปในกุศลขั้นกามาวจรและกุศลขั้นรูปาวจรกุศล
๒. เจตนาที่เป็นไปในอกุศลกรรม
๓. เจตนาที่เป็นในกุศลขั้นอรูปาวจรกุศล
ส่วนภพในปฏฺิจจสมุปบาท มี ๒ อย่าง คือกรรมภพ แปลว่า ภพคือกรรม ได้แก่ เจตนาและธรรมที่สัมปยุตด้วยเจตนา มีอภิชฌา (ความติดข้อง) เป็นต้น อันได้แก่ ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อาเนญชาภิสังขาร หรือจะกล่าวให้ง่ายก็คือ กรรมภพนั้น ได้แก่ กุศลกรรม และอกุศลกรรม อันจะนำไปสู่กามภพ รูปภพ และ อรูปภพ
อุปปัตติภพ ภพคือภาวะที่เกิดขึ้น ปรากฏขึ้น ได้แก่ อุปาทานขันธ์ ซึ่งก็หมายถึง ภพทั้ง ๓ นั้นเอง มีกามภพ มนุษย์ เป็นต้น รูปภพ อรูปภพ
สังขาร ในปฏิจจสมุปบาท หมายถึง กุศลกรรม และ อกุศลกรรมในอดีตชาติ ส่วนภพ เป็นกุศลกรรม อกุศลกรรมในปัจจุบันชาตินี้ เพราะฉะนั้น ถ้าจะกล่าวว่า สังขารในปฏิจจสมุปบาท เป็นกรรมภพ ในอดีตชาติก็ได้ เพียงแต่ว่าไม่ได้มุ่งหมายอย่างนั้น เพราะสังขาร มุ่งหมายถึงกรรมในอดีต และภพ ที่เป็นกรรมภพ มุ่งหมายถึงกรรมที่ทำในปัจจุบันชาตินี้
ปฏิจสมุปบาท เป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งมาก คำว่าสังขารในปฏิจจสมุปบาท นั้นต้องเข้าใจให้ถูกว่าเป็นเจตนาเจตสิกที่เป็นตัวกรรม ที่เป็นกุศลกรรม บ้าง เป็นอกุศลกรรมบ้าง ซึ่งตามชื่อแล้วก็เป็น อปุญญาภิสังขาร เจตนาที่เป็นอกุศล เป็นอกุศลกรรม, ปุญญาภิสังขาร เจตนาที่เป็นบุญ มุ่งหมายถึงเจตนาเกิดร่วมกับกามาวจรกุศล ที่จะเป็นเหตุให้เกิดในสุคติภูมิ และรูปาวจรกุศลที่จะเป็นเหตุทำให้เกิดในรูปพรหมภูมิ และอาเนญชาภิสังขาร เป็นเจตนาที่เกิดร่วมกับอรูปาวจรกุศลที่จะเป็นเหตุให้เกิดในอรูปพรหมภูมิ ทั้งสามนี้ ก็เป็นเหตุให้มีการวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏฏ์ อย่างไม่มีวันจบสิ้น เพราะสังขาร (กรรม) ที่เกิดในอดีตเป็นปัจจัย จึงทำให้มีการเกิดในภพนี้ ถ้าจะกล่าวอย่างนี้ก็กล่าวได้ เพราะต้องมุ่งหมายถึงสังขารในอดีตชาติ จึงทำให้มีการเกิดในภพนี้ มีจิต เจตสิก และรูปต่าง ๆ เกิดขึ้นเป็นไป
แต่ถ้าจะกล่าวถึงภพ ในปฏิจจสมุปบาท ก็ละเอียดลงไปอีก มุ่งหมายถึง กรรมที่กระทำในปัจจุบันชาตินี้ ที่จะเป็นเหตุให้เกิดผลในภายหน้า กล่าวคือ ทำให้เกิดในภพภูมิต่าง ๆ นั่นเอง
ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด แม้ไม่ใส่ชื่อ ธรรม ก็มีจริง เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น จึงสำคัญอยู่ที่ความเข้าใจถูกเห็นถูก
การที่สภาพธรรมเกิดขึ้นนั้น ไม่มีแม้แต่สภาพธรรมเดียวที่จะเกิดขึ้นโดยปราศจากเหตุปัจจัย ล้วนเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยทั้งสิ้น จิตก็เช่นเดียวกัน ก็ต้องอาศัย ปัจจ้ยต่างๆ หลายปัจจัย ต้องมีเจตสิกประการต่าง ๆ เกิดร่วมด้วย รวมถึงผัสสเจตสิก และเวทนาเจตสิกด้วย ไม่ขาดเลย ผัสสเจตสิก ต้องเกิดร่วมกับจิตทุกขณะทุกประเภท ไม่มีเว้น เป็นเจตสิกที่กระทบกับอารมณ์ที่จิตรู้ ผัสสะเป็นนามธรรม ที่ทำหน้าที่กระทบอารมณ์ เกิดร่วมกับจิต แต่ไม่เป็นใหญ่เป็นประธานเหมือนจิต เพียงเกิดขึ้นทำกิจของตนแล้วก็ด้บไปเท่านั้น และเวทนา ก็เป็นความรู้สึกเกิดร่วมกับจิตเห็นและรวมถึงจิตทุกประเภทด้วยเช่นเดียวกัน ทุกขณะที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้น มีธรรมเกิดขึ้นเป็นไปทั้งนามธรรมและรูปธรรม เป็นปัจจัยโดยนัยต่าง ๆ แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่หาความเป็นสัตว์เป็นบุคคลไม่ได้เลยทีเดียว.