ผู้ที่เริ่มสะสมเหตุที่ถูกคือการอบรมปัญญา แม้จะทุกข์บ้างเป็นธรรมดาของปุถุชน แต่ก็ค่อย ๆ ละทุกข์ได้ทีละน้อยด้วยปัญญา และในที่สุดวันหนึ่งก็ละทุกข์ได้จริง ๆ ดังนั้นในพระพุทธศาสนา จึงทำใจไม่ได้ เพราะบังคับให้เป็นไปตามต้องการไม่ได้ แต่ค่อย ๆ เข้าใจความจริงได้
ดับทุกข์ต้องเข้าใจไม่ใช่ทำใจ
ตามหลักธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนา แสดงไว้ว่า ความรัก ความติดข้อง ความยินดีพอใจ เป็นโลภะ เป็นอกุศลธรรม เป็นกิเลสตัณหา เป็นเครื่องเศร้าหมองของจิตใจ ไม่ใช่เพียงแค่ความรักของหนุ่มสาวเท่านั้น ความรักพี่น้อง รักเพื่อน หรือความติดข้องยินดีพอใจในกามคุณ ๕ กล่าวคือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย) ก็เป็นโลภะ เป็นตัณหาเหมือนกัน และที่สำคัญ ตัณหาเป็นต้นเหตุของทุกข์ทั้งปวง เพราะมีรัก เมื่อยังไม่พลัดพรากจากสิ่งที่รัก ก็เพิ่มโลภะมากยิ่งขึ้น แต่ถ้าผิดหวัง หรือ พลัดพรากจากสิ่งที่รัก ก็เป็นเหตุแห่งทุกข์ นำมาซึ่งความเศร้าโศกเสียใจ เมื่อกล่าวโดยรวมแล้ว ทุกข์ที่เกิดขึ้นก็เพราะยังมีตัณหา เมื่อดับตัณหาเสียได้ ทุกข์ย่อมถูกดับไปด้วย
โลภะ เกิดขึ้นเมื่อใด ย่อมทำให้ไม่เห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะขณะที่โลภะเกิด ย่อมมีโมหะ ความไม่รู้ เกิดร่วมด้วยทุกครั้ง ทำให้คิดไปในทางที่ผิด การพูดก็ผิด การกระทำก็ผิด ทำให้ไม่รู้ว่าสิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร ไม่รู้ว่าสิ่งใดมีโทษ สิ่งใดไม่มีโทษ ไม่รู้ว่าสิ่งใดมีประโยชน์ สิ่งใดไม่มีประโยชน์, ขณะที่อกุศลจิตเกิด จึงไม่นำมาซึ่งประโยชน์ใด ๆ เลย ทำให้ไม่รู้ความจริง แต่โดยนัยตรงกันข้ามเมื่อปัญญาเกิด ย่อมเห็นตามความเป็นจริง บุคคลผู้ที่เข้าใจตามความเป็นจริงว่ากิเลสเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ แล้วก็ใคร่ที่จะละคลายกิเลสลง ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา ไม่ละเลยโอกาสของการเจริญกุศลทุก ๆ ประการ สะสมอุปนิสัยในการอบรมเจริญปัญญาเป็นปกติทุก ๆ วันเพื่อละคลายกิเลสของตนเอง บุคคลประเภทนี้ เป็นบัณฑิต ควรอย่างยิ่งที่จะเป็นอย่างนี้ ด้วยเห็นประโยชน์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมในแนวทางที่ถูกต้อง สะสมความเข้าใจถูกต่อไป เพราะคนอื่นหรือทรัพย์สมบัติ ไม่ใช่ที่พึ่งที่แท้จริงในชีวิต ไม่ใช่สิ่งที่จะติดตามไปในภพหน้าได้ แต่ความดี และปัญญาที่สะสมไว้ตั้งแต่เมื่อยังมีชีวิตอยู่เท่านั้นที่จะสะสมเป็นที่พึ่งต่อไปในภายหน้า
นี่แสดงให้เห็นถึงความเป็นธรรมดาของความทุกข์ที่จะต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดาในชีวิตประจำวันที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย ในความเป็นปุถุชนที่ยังหนาด้วยกิเลสและเต็มไปด้วย ความติดข้องที่เป็นโลภะ อันเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์และเพราะมีอวิชชา ความไม่รู้ จึงต้องมีการเกิดและต้องทุกข์กายและใจเป็นธรรมดา ดังนั้น จึงไม่ใช่การบอกวิธีให้ทำใจ หรือให้ปล่อยว่างก็หายจากทุกข์ได้ทันที แต่ต้องเข้าใจความจริงที่เกิดแล้วว่าทุกข์มีจริง
ประโยชน์ที่จะคลายโศก ทุกข์ใจจริงๆ คือ การแก้ที่ต้นเหตุ คือ เหตุคือ กิเลสประการต่าง ๆ ที่มีอยู่ในใจ ที่ทำให้เกิดความรัก มีโลภะ เป็นต้น เป็นเหตุให้ทุกข์ใจ การแก้ที่ต้นเหตุ คือ อบรมธรรมฝ่ายตรงกันข้ามที่จะละกิเลส คือ ละโลภะได้ด้วยการเจริญปัญญา ศึกษาพระธรรมของพระพุทธเจ้า แต่ต้องไม่ลืมว่า กิเลสมีมากและสะสมมาเนิ่นนาน จะให้หายทุกข์ใจ ทำใจ ปล่อยว่าง ได้ทันทีคงเป็นไปไม่ได้ เพราะปัญญามีน้อย ต้องค่อยๆ สะสมไป แต่การเริ่มจากเหตุที่ถูก ในการจะละความทุกข์ได้จริง ดีกว่า ประเสริฐกว่าการจะทำให้ทุกข์หายไปทันทีด้วยเพียงการปลอบใจอย่างชาวโลก เพราะเดี๋ยวก็ต้องทุกข์อีกแน่นอน แต่ผู้ที่เริ่มสะสมเหตุที่ถูกคือการอบรมปัญญา แม้จะทุกข์บ้างเป็นธรรมดาของปุถุชน แต่ก็ค่อย ๆ ละทุกข์ได้ทีละน้อยด้วยปัญญา และในที่สุดวันหนึ่งก็ละทุกข์ได้จริง ๆ ดังนั้นในพระพุทธศาสนา จึงไมใช่ทำใจ เพราะบังคับให้เป็นไปตามต้องการไม่ได้ แต่ค่อย ๆ เข้าใจความจริงได้
ควรตั้งต้นด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ เป็นธรรมดาที่อกุศลจิตจะเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย ตราบใดที่ยังไม่สามารถดับกิเลสอะไร ๆ ได้เลย แต่ความเข้าใจพระธรรมจะช่วยให้ค่อย ๆ ขัดเกลายิ่งขึ้นได้ เมื่อมีความเข้าใจถูกเห็นถูกขึ้น เห็นโทษของอกุศล เห็นคุณของกุศล จึงไม่มีใครสามารถทำลายหรือขจัดอกุศลของตนเองได้เลย นอกจากตนเองจะเป็นผู้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ แล้วปัญญาจะทำให้มีการขัดเกลากิเลสยิ่งขึ้น เป็นไปได้ด้วยปัญญาจริง ๆ ซึ่งพระอริยสาวกทั้งหลายในอดีต ก่อนที่ท่านจะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ท่านก็มากไปด้วยอกุศล มากไปด้วยกิเลสนานาประการ แต่ก็สามารถดับได้ในที่สุด เมื่อปัญญาเจริญขึ้น คมกล้าขึ้นนั่นเอง ดังนั้น จึงต้องตั้งต้นที่การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจจริง ๆ ความเข้าใจพระธรรม จะนำพาชีวิตไปสู่ทางที่ดี ที่ถูกที่ควรยิ่งขึ้น เพราะขณะที่เข้าใจขณะนั้น ไม่ทุกข์ ไม่เดือดร้อน.