Home » ความฝันคืออะไร

ความฝันคืออะไร

( Somboon )

by Pakawa

พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่า วิตกเจตสิก ที่เป็นสภาพธรรมที่ตรึก นึกคิด และอาศัยจิต ท่านเปรียบเหมือนเท้าของโลก คือ ก้าวไปทุกที่ ทุกเวลาได้ คิดเรื่องต่างๆ อย่างรวดเร็ว จิตเมื่อเกิดขึ้น ก็ย่อมคิดนึก ไปในเรื่องราวต่างๆ ตามความทรงจำไว้ ที่เคยจำไว้ จำไว้ในเรื่องอะไร ก็คิดไปในเรื่องนั้น เพียงแต่ว่าจะคิดด้วยกุศล หรืออกุศลเท่านั้น แม้แต่เรื่องฝันก็เช่นเดียวกัน

ความฝันคืออะไร

สิ่งที่มีจริงคือสภาพธรรมทีเป็นนามธรรมและรูปธรรม คือ จิต เจตสิก รูป ขณะฝันก็ไม่พ้นจากสภาพธรรมเช่นกัน ขณะฝัน ขณะนั้นก็เป็นจิต จิตที่คิดนึกในเรื่องราวต่างๆ เพราะฉะนั้นอาศัย สัญญา ความจำ จำในสิ่งต่างๆและเมื่อมีความจำ ก็มีการคิดนึกในสิ่งที่จำมาในชีวิตประจำวันหรือในอดีตที่เคยเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส รู้สิ่งกระทบสัมผัส และเมื่อมีการเห็น ได้ยินสิ่งต่างๆ ในอดีตแล้ว ขณะนั้นก็ต้องมีการจำด้วยจำในสิ่งต่างๆ ทีได้เห็น ได้ยิน และก็มีการคิดนึกถึงเรื่องที่เห็น ทีได้ยินทีได้จำมา
เพราะฉะนั้น ขณะที่ฝันก็เป็นการคิดนึกคือจิตที่คิดนึกถึงเรื่องราวต่างๆ ที่เคยเห็น เคยได้ยินมา เป็นต้น เพราะฉะนั้นอาศัยสภาพธรรม อาศัย สัญญาความจำ อาศัยจิตจึงมีการฝันเป็นเรื่อราวต่างๆ เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง ขณะที่ฝันไม่ใช่ขณะที่เห็น แต่เหมือนเห็น
ฝันคือการคิดนึก ซึ่งหตุให้เกิดความฝันก็เพราะ มีสัญญา มีจิต มีอกุศลอยู่จึงมีการฝัน ในพระไตรปิฏกแสดงเหตุให้เกิดฝัน ๔ ประการคือ
๑. ธาตุวิปริต หมายถึงร่างกายไม่สบายหรือไม่เป็นปกติ เช่น อิ่มเกินไป หิวเกินไป จึงได้ฝัน
๒. จิตนิวรณ์ หมายถึงจิตมีความผูกพันอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อาจเป็นสิ่งของ สถานที่ หรือบุคคล จึงนำมาปรุงแต่งเป็นความฝัน เช่น ฝันถึงคนเคยรู้จักกันที่ยังมีชีวิตอยู่ หรือเสียชีวิตไปแล้ว อาจฝันดีหรือฝันร้ายก็ได้
๓. เทพสังหรณ์ หมายถึงเทวดามาดลใจให้ฝัน
๔. สุบินนิมิตหรือบุพนิมิต ฝันเพราะมีลางบอกเหตุ ว่าจะได้พบเจอสิ่งใดในกาลข้างหน้า
    เพราะฉะนั้นฝันดี ฝันร้าย ฝันเห็นสิ่งต่างก็เพราะมีจิต มีสัญญา มีอกุศลและก็มีเหตุประการต่างๆ ตามที่กล่าวมา ส่วนผู้ใดจะตีความฝันนั่นก็เป็นเรื่องของบุคคลนั้น ตามการสะสมของบุคคลนั้นที่จะตีความ หากแต่ว่าในความเป็นจริงแล้ว ความฝันก็คือความคิดนึกเท่านั้น ความเข้าใจที่ถูกย่อมทำให้เข้าใจว่าทุกอย่างเป็นแต่เพียงสภาพธรรม ไม่มีเราฝันมีแต่จิตที่คิดนึกเท่านั้น ปัญญาจึงค่อยๆคลายความยึดถือว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน
แต่ละคนก็มีความประพฤติเป็นไปตามการสะสม ว่าโดยส่วนมากแล้วขาดความเข้าใจถูกเห็นถูก ไม่มีที่พึ่งที่ประเสริฐ ไม่มีความ เข้าใจความจริง เมื่อฝันไม่ดี หรือฝันดี ก็หวั่นไหว จึงไปแสวงหาที่พึ่งที่แตกต่างกัน ตามความเชื่อถือของแต่ละบุคคล ซึ่งไม่ได้เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้น ของกุศลธรรมและความเข้าใจถูกเห็นถูกเลยแม้แต่น้อย แต่กลับเป็นการพอกพูน อกุศล มี ความไม่รู้ ความติดข้องและ ความเห็นผิดให้มากขึ้น ดังนั้นการฟังการศึกษาพระธรรม ให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง จึงเป็นที่พึ่งที่แท้จริง.

You may also like

Leave a Comment

ช่องทางติดตามข่าวสาร

Copyright @2024  All Right Reserved – Buddhawisdomfoundation Buddhawisdom

-
00:00
00:00
Update Required Flash plugin
-
00:00
00:00