Home » เรื่องพระภิกษุจับต้องกายหญิง

เรื่องพระภิกษุจับต้องกายหญิง

( Somboon )

by Pakawa

ความเป็นบรรพชิตรักษายากมาก ต้องเป็นผู้มีอัธยาศัยน้อมไปจริงๆ ถึงจะรักษาได้ ทำให้ตนเองดำรงมั่นในพระธรรมวินัยและได้ประโยชน์สูงสุดคือ การรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคล ขั้นต่างๆ แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าไม่ประพฤติตามพระธรรมวินัย รักษาความเป็นบรรพชิตไม่ได้ หรือ รักษาไม่ดี ย่อมเป็นที่แน่นอนว่ามีแต่จะคร่าไปสู่นรกเท่านั้น ซึ่งเป็นอันตรายมาก

เรื่องพระภิกษุจับต้องกายหญิง

พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทไว้ มีความละเอียด คือ ละเอียดลงไปถึงใจที่เป็นสภาพธรรม ที่เป็นนามธรรม ที่ไม่สามารถเห็นด้วยตาเปล่า แต่เห็นด้วยตาปัญญา จึงมีความละเอียดลึกซึ้ง แม้แต่พระภิกษุ การจับต้องกายหญิง หากจับด้วยอำนาจความยินดีพอใจ ติดข้องกําหนัด ย่อมต้องอาบัติสังฆาทิเสส ถ้าพระภิกษุมีความยินดี เอาไม้เท้าไปถูกเสื้อของผู้หญิง หรือกระเป๋า เป็นอาบัติทุกกฏ ถ้าพระภิกษุมีความยินดีเอาไม้เท้าไปถูกเนื้อของผู้หญิง เป็นอาบัติถุลลัจจัย ถ้าพระภิกษุมีความยินดีเอามือไปจับเนื้อตัวผู้หญิง เป็นอาบัติสังฆาทิเสส ถ้าเสพเมถุนเป็นอาบัติปาราชิก
    เพราะฉะนั้น หากไม่มีความยินดี กำหนัด ที่จงใจจะไปจับมือมาตุคาม (ผู้หญิง) ก็ไม่ต้องอาบัติ สังฆาทิเสส เพราะ ไม่มีจิตยินดี จงใจจับต้อง
    การถูกต้องกายหญิงที่เป็นมารดา พี่สาว น้องสาว ลูกสาว ไม่เป็นอาบัติสังฆาทิเสส แต่เป็นอาบัติทุกกฏ เพราะการจับต้องกายหญิงด้วยความรักอาศัยเรือน คือ ด้วยความรักในฐานะของมารดา หรือ ด้วยความรักฉันน้องสาว พี่สาว, หรือ แม้กระทั่ง ถ้าน้ำอสุจิเคลื่อน จากถูกต้องกายหญิงที่เป็นมารดา พี่สาว น้องสาว ก็ไม่เป็นอาบัติสังฆาทิเสส เพราะไม่มีจิตกำหนัด แต่เป็นอาบัติทุกกฏ ถ้ามีจิตกำหนัดแล้ว จึงเป็นอาบัติสังฆาทิเสส
พระภิกษุจับต้องกายหญิงที่เป็นมารดา, ลูกสาว, พี่สาว, น้องสาว เป็นอาบัติทุกกฏ แต่ก็ต้องพิจารณาต่อไปว่า ทุกกฏ แม้จะเป็นอาบัติเบา แต่ก็มีโทษ เพราะความหมายของทุกกฏ (ทุก – กะ – ฏะ) คือ เป็นการกระทำที่ผิด (เลวทราม) เป็นการกระทำที่ไม่ดี เนื่องจากไม่ได้น้อมประพฤติตามพระดำรัสที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ เป็นการกระทำที่แย้งต่อกุศลธรรม เป็นการกระทำที่พลาด เพราะไม่สามารถย่างขึ้นสู่ข้อปฏิบัติที่ให้ถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ กล่าวได้ว่า เป็นโทษโดยส่วนเดียว ยิ่งถ้าพระภิกษุมีความกำหนัดแล้วจับต้องกายหญิง แม้จะเป็นลูกสาวของตน ก็เป็นอาบัติหนักด้วย คือ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ตามพระวินัยบัญญัติที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ซึ่งเรื่องของจิตใจ เป็นเรื่องที่ระวังยาก เพราะโดยปกติของความเป็นปุถุชนก็มากไปด้วยอกุศลอยู่แล้ว ถ้าประมาท ก็ยิ่งพอกพูนอกุศลยิ่งขึ้น เป็นโทษกับตนเองโดยส่วนเดียว
ฉะนั้น ในความเป็นจริงไม่ควรไปจับต้องกายหญิงไม่ว่าใครเพราะอาจเกิดจิตที่ยินดีพอใจ เป็นอาบัติอาบัติสังฆาทิเสส หรือไม่ก็ อาบัติทุกกฏ จึงไม่ควรกระทำ
      พระภิกษุ เป็นเพศบรรพชิต ซึ่งเป็นเพศที่สูงกว่าคฤหัสถ์ ผู้ที่จะบวชเป็นพระภิกษุนั้น ท่านเป็นผู้ที่เห็นโทษเห็นภัยของอกุศล เห็นโทษเห็นภัยของการอยู่ครองเรือนว่าเป็นที่หลั่งไหลมาของอกุศลประการต่าง ๆ มากมาย เมื่อบวชแล้ว มีความจริงใจที่จะศึกษาพระธรรมวินัย ซึ่งเป็นคำสอนของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วน้อมประพฤติปฏิบัติตาม เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป  
      ความเป็นบรรพชิตรักษายากมาก ต้องเป็นผู้มีอัธยาศัยน้อมไปจริงๆ ถึงจะรักษาได้ ทำให้ตนเองดำรงมั่นในพระธรรมวินัยและได้ประโยชน์สูงสุดคือ การรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคล ขั้นต่างๆ แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าไม่ประพฤติตามพระธรรมวินัย รักษาความเป็นบรรพชิตไม่ได้ หรือ รักษาไม่ดี ย่อมเป็นที่แน่นอนว่ามีแต่จะคร่าไปสู่นรกเท่านั้น ซึ่งเป็นอันตรายมาก
      การกระทำบางอย่างของพระภิกษุ ในสายตาของชาวโลกดูเหมือนว่าจะเป็นสิ่งที่ดีควรกระทำ แต่ตามความเป็นจริงแล้ว บางอย่างบางเรื่อง เช่น ล้างเท้าให้มารดา แน่นอนต้องมีการจับต้องกาย อาบัติแน่ๆ ผิดพระวินัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าบัญญัติไว้ และจะผิดไปเรื่อยๆ ถ้าไม่ได้ศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้
       การศึกษาพระวินัยให้เข้าใจ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ขาดไม่ได้เลยทีเดียว แต่พระภิกษุสามารถเกื้อกูลต่อบิดามารดา ได้หลายทางเช่น เกื้อกูลให้ท่านได้เข้าใจถูกเห็นถูกในธรรม ตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง หรือแม้อาหารบิณฑบาตที่ได้มาก็สามารถให้ท่านได้ 
      ข้อที่น่าพิจารณาสำหรับผู้ที่ไม่ได้บวช การเป็นคฤหัสถ์ที่ดี เป็นบุตรธิดาที่ดี ดำรงอยู่ในธรรมอันดีงามพร้อมกับได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจไปตามลำดับ ย่อมมีโอกาสที่จะตอบแทนพระคุณของมารดาบิดาได้ตลอดเวลา (ทุกที่ทุกเวลา ไม่จำกัด) ทำให้ท่านสบายได้ทั้งกายและใจ สามารถช่วยเหลือหรือแบ่งเบาภาระของท่านได้ทุกอย่างและสามารถกระทำการช่วยเหลือท่านได้อย่างเต็มที่ด้วย โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะผิดพระวินัยข้อไหนหรือไม่ (เพราะไม่ได้เป็นพระภิกษุ) ที่สำคัญที่สุด คือเป็นคนดี และ มีความกตัญญูกตเวทีต่อท่าน.

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๑ ภาค ๓ – หน้าที่ ๑๕๐
เรื่องมารดา
[๓๘๘] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งจับต้องมารดาด้วยความรักฉันมารดา เธอได้มีความรังเกียจว่า เราต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้วกระมังหนอ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า ดูกร ภิกษุ เธอไม่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส แต่ต้องอาบัติทุกกฎ

เรื่องธิดา
ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งจับต้องธิดาด้วยความรักฉันธิดา เธอได้มีความรังเกียจว่า เราต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้วกระมังหนอ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูกร ภิกษุ เธอไม่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส แต่ต้องอาบัติทุกกฎ

เรื่องพี่น้องหญิง
ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่ง จับต้องพี่น้องหญิงด้วยความรักฉันพี่น้องหญิง เธอได้มีความรังเกียจว่า เราต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้วกระมังหนอ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า ดูกร ภิกษุ เธอไม่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส แต่ต้องอาบัติทุกกฏ.

You may also like

Leave a Comment

ช่องทางติดตามข่าวสาร

Copyright @2024  All Right Reserved – Buddhawisdomfoundation Buddhawisdom

-
00:00
00:00
Update Required Flash plugin
-
00:00
00:00