เรื่องของการอบรมเจริญปัญญา ที่จะละคลายกิเลสเป็นเรื่องที่ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไปจริงๆ แม้แต่ในขั้นของความเข้าใจ ถ้าฟังพระธรรมอยู่เรื่อยๆ พิจารณาธรรมอยู่เรื่อยๆ ก็จะเห็นได้ว่า ความเข้าใจเพิ่มขึ้นจากตอนต้นมาก แต่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย โดยที่ไม่มีกำหนดรู้ได้ว่า เพิ่มขึ้นมากใน้อยแค่ไหน แต่จะต้องค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป
#มีชีวิตอยู่เพื่ออะไร
ชีวิต คือ จิต เจตสิกและรูปที่เกิดขึ้น ประชุมรวมกัน จึงบัญญัติว่าชีวิต การได้เกิดเป็นมนุษย์เป็นผลของกรรมดีที่ได้กระทำมาจึงทำให้เกิดเป็นมนุษย์ การได้เกิดเป็นมนุษย์จึงเป็นเรื่องยาก เพราะโดยมากในชีวิตประจำวัน จิตย่อมเป็นไปในอกุศลมากกว่ากุศล
ในพระพุทธศาสนา จึงได้แสดงสิ่งที่เป็นคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ไว้ว่า สาระของชีวิตมนุษย์นั้นคือ การเจริญกุศลทุกๆ ประการ และอบรมเจริญปัญญา ตามกำลังความสามารถเท่าที่จะทำได้ เพราะในความเป็นจริง เมื่อบุคคลเกิดมาเป็นมนุษย์สิ่งที่ติดตัวมา คือการสะสมสิ่งที่ดี และไม่ดีในจิต เมื่อบุคคลนั้นจะต้องตายจากไป ทรัพย์สมบัติก็ไม่ได้ติดตัวไปด้วย ลาภ สักการะก็ไม่ได้ติดตัวไปด้วย สิ่งเหล่านี้จึงไม่ใช่สาระ และเป็นคุณค่าจริง ๆ กับชีวิตในการแสวงหา เพราะเป็นของชั่วคราว ไม่ได้นำมาซึ่งประโยชน์กับบุคคลนั้นได้จริง แต่สิ่งที่จะติดตามบุคคลนั้นไปเมื่อตายแล้ว คือกุศลกรรม และอกุศลกรรมที่ได้ทำไว้เท่านั้น แต่อกุศลกรรม ไม่ใช่สิ่งที่มีคุณค่า และเป็นสาระของชีวิตที่ได้เกิดเป็นมนุษย์เพราะนำมาซึ่งโทษ นำมาซึ่งความไม่เป็นประโยชน์กับผู้ที่ประพฤติอกุศล ชีวิตที่ดำเนินไปด้วยการทำอกุศลกรรม จึงไม่ใช่การมีชีวิตอยู่อย่างมีคุณค่า แต่สิ่งที่มีค่ามีสาระ เพราะนำมาซึ่งประโยชน์ และชำระล้างสิ่งที่ไม่ดี ไม่มีค่าออกจากจิตใจ คือกุศลธรรม และปัญญานั่นเอง ดังนั้น สิ่งที่มีค่าในการดำรงชีวิตอยู่คือ การเจริญกุศล และอบรมปัญญา ที่เป็นศีลสาระ สมาธิสาระ และปัญญาสาระ การใช้ชีวิตที่ประเสริฐอย่างมีคุณค่า คือการมีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา เพราะปัญญาย่อมเป็นเหมือนแสงสว่าง นำทางให้กับผู้ที่ดำรงชีวิตประจำวันในความเป็นมนุษย์ ให้ดำเนินไปในทางที่ถูกต้อง ทั้งทางกาย วาจาและใจด้วยปัญญาเป็นผู้ชี้ทาง ดังนั้น การมีชีวิตอยู่อย่างมีคุณค่า และประเสริฐในพระพุทธศาสนา คือการมีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา ซึ่งปัญญาจะมีได้ก็ด้วยการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมจนเป็นความเข้าใจ เพราะฉะนั้น ชีวิตที่มีคุณค่า คือการเจริญกุศลทุกประการ และอบรมเจริญปัญญา มีคุณค่าเพราะมีสิ่งที่มีคุณค่าเกิดที่ใจ คือคุณความดี และปัญญา
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบด้วยพระคาถาว่า “ศรัทธาเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจอันประเสริฐที่สุดของบุรุษในโลกนี้ ธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้ว ย่อมนำความสุขมาให้ สัจจะแลเป็นรส ยังประโยชน์ให้สำเร็จกว่ารสทั้งหลาย นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่าชีวิตของบุคคล ผู้เป็นอยู่ด้วยปัญญา ประเสริฐที่สุด”
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒- น้าที่ 416
ก็ผู้ใดมีปัญญาทราม มีใจตั้งมั่น พึงเป็นอยู่ ๑๐๐ ปี ความเป็นอยู่วันเดียวของผู้มีปัญญา มีฌาน (ปัญญา) ประเสริฐกว่า (ความเป็นอยู่ของผู้นั้น).
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ – หน้าที่ 367 สารสูตร ว่าด้วยสาระ ๔ ประการ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สาระ ๔ นี้ ฯลฯ คือ สีลสาระ สมาธิสาระ ปัญญาสาระ วิมุตติสาระ นี้แล สาระ ๔ ประการ.