“เมื่อใด บัณฑิตย่อมเห็นด้วยปัญญาว่า ธรรม ทั้งปวงเป็นอนัตตา เมื่อนั้น ย่อมหน่ายในทุกข์ ความ หน่ายในทุกข์ นั่นเป็นทางแห่งความหมดจด”
อนัตตลักขณะ
อนตฺตา (ความไม่ใช่ตัวตน) + ลกฺขณ (เครื่องหมายรู้ สภาวะ) สภาวะที่ไม่ใช่ตัวตน หมายถึง ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของผู้ใด คือเป็นสภาพนามธรรมอย่างหนึ่งมีลักษณะที่น้อมไปรู้อารมณ์ จะมีผู้ใดผู้หนึ่งบังคับให้นามธรรมเป็นสภาพที่ไม่รู้อารมณ์ก็ไม่ได้ หรือสภาพที่เป็นรูปธรรม มีลักษณะที่ไม่รู้อารมณใครจะบังคับให้รู้เปลี่ยนมาเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ก็ไม่ได้ หรือสังขารธรรมเป็นสภาพที่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ใครจะบังคับให้สังขารธรรมเป็นสภาพที่เที่ยง เป็นสุขก็ไม่ ได้เพราะฉะนั้น สังขารธรรมที่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ จึงเป็นอนัตตา และแม้วิสังขารธรรมซึ่งหมายถึงพระนิพพานเป็นสภาพที่เที่ยง (เพราะไม่เกิดดับ) เป็นสุข (เพราะทนอยู่ในสภาพเดิมได้) แต่ก็ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงสภาพของนิพพานให้ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ได้ วิสังขารธรรมที่เที่ยงเป็นสุข นั้นจึงเป็นอนัตตาด้วย
คำว่า “อนัตตา” ถ้าพิจารณาศึกษาจริงๆ จะทำให้สามารถเข้าใจพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงได้ แต่ถ้าเป็นผู้ที่ผิวเผิน ไม่มีทางที่จะเข้าใจ
ความหมายของคำว่า “อนัตตา” หรืออรรถของอนัตตา ถ้าเป็นผู้สนใจก็จะดูพจนานุกรมว่า อนัตตาหมายความว่าอะไร ก็จะมีคำแปลว่า อนัตตาหมายถึงสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่อัตตา แต่ที่จะเข้าใจตาม หรือเข้าใจจริงๆ จนกระทั่งซาบซึ้งในความหมายของคำว่า “อนัตตา” ต้องเป็นการพิจารณาโดยละเอียด เช่น เมื่อไม่ใช่ อัตตา แล้ว สภาพธรรมนั้นเป็นอะไร เพราะเหตุว่าสภาพธรรมมีจริงๆ กำลังปรากฏ หรือสิ่งที่เคยยึดถือว่าเป็นอัตตานั้น ถ้าเป็นอนัตตาแล้ว เป็นอนัตตาอย่างไร เพราะเหตุใดจึง เป็นอนัตตา เช่นทางตาที่กำลังเห็น ก็เห็นอยู่ ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ธรรมทั้งหลาย ต้องหมายถึงธรรมทั้งหลายจริงๆ ไม่เว้นเลย ธรรมทั้งหมดเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นในขณะที่เห็นต้องเป็นอนัตตาด้วย คนที่ละเอียดแม้เพียงคำว่า “อนัตตา” ที่จะเข้าใจจริงๆ ก็จะไม่ผ่านเลยไป เพราะเหตุว่าไม่ใช่เพียงรู้คำแปลว่า อนัตตา หมายถึงอะไร แต่เมื่อไม่ใช่ อัตตา ธรรมทั้งหลายแม้การเห็นก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นใน ขณะที่กำลังเห็นอย่างนี้เป็นอนัตตาอย่างไร
นี่คือผู้จะพิจารณา และจะอบรมเจริญปัญญา จนกระทั่งสามารถประจักษ์แจ้งใน ลักษณะของอนัตตา โดยไม่ใช่เพียงพูดตาม ดังนั้นผู้ที่ศึกษาธรรม ก็จะต้องพิจารณาในขณะนี้ เพื่อความเข้าใจที่จะให้รู้ว่า เป็นอนัตตาอย่างไร
สิ่งที่มีจริง ๆ เป็นธรรม ธรรมคือสิ่งที่มีจริง ๆ เมื่อเป็นสิ่งที่มีจริง ก็เป็นสิ่งที่มีจริงแต่ละอย่าง ๆ เป็นแต่ละหนึ่งๆ จึงไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน แทรกอยู่ในสิ่งเหล่านั้นเลย มีแต่ธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยเท่านั้น เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีใครบังคับบัญชาให้สภาพธรรมเกิดได้ หรือเมื่อสภาพธรรมเกิดแล้ว ก็บังคับไม่ให้ดับก็ไม่ได้ นี้คือ ความเป็นจริงของสภาพธรรม เช่น เห็นเป็นธรรม เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเห็น ไม่ใช่เราที่เห็น ไม่ใช่ใครที่เห็นแต่เป็นธรรม เป็นต้น ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด ยากที่จะเข้าใจ แต่ก็สามารถที่จะเข้าใจได้ ค่อย ๆ ฟังค่อย ๆ ศึกษาไปตามลำดับ ไตร่ตรองพิจารณาในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง โดยที่ไม่ขาดการฟัง เมื่อสะสมศรัทธาที่จะฟัง เห็นประโยชน์ของการได้เข้าใจความจริง ความเข้าใจก็จะค่อย ๆ เจริญขึ้น ไม่ใช่ว่าจะเจริญขึ้นมาก ๆ ในทันทีทันใดต้องค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไป สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ความเข้าใจจะมีมากได้ ก็มาจากการสะสมไปทีละเล็กทีละน้อย และที่สำคัญ เข้าใจธรรม ตามกำลังปัญญาของตนเอง แค่ไหนก็แค่นั้น และสะสมการฟัง ต่อไปอีก ซึ่งจะเป็นอุปนิสัยที่ดีทำให้ได้ฟังได้ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจต่อไปอีกในภายหน้า
“สัพเพ ธัมมา อนัตตา” ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน สภาพธรรมที่มีจริง คือ จิต เจตสิก รูป ซึ่งสภาพธรรมที่มีจริงทั้งหมดนี้ ก็ไม่พ้นกฎธรรมชาติที่เป็นไป คือ เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง ทุกขัง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรมะ เกิดขึ้นเพาะเหตุปัจจัย แม้นิพพาน ก็เป็นอนัตตา.