Home » บัญญัติธรรม

บัญญัติธรรม

( Somboon )

by Pakawa

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นประโยชน์โดยตลอด ทำให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ไม่มีแม้บทเดียว ที่จะไม่มีประโยชน์เพราะเป็นความจริงจากการตรัสรู้ของพระองค์ เป็นเรื่องของการขัดเกลา การละ ไม่ใช่เรื่องจะเอาจะได้

บัญญัติธรรม

บัญญัติไม่มีสภาวะ บัญญัติเป็นเพียงเรื่องหรือชื่อของปรมัตถธรรม เพราะมีปรมัตถธรรม จึงมีชื่อหรือมีคำบัญญัติ เพราะแท้ที่จริงแล้ว สิ่งที่มีจริงๆ ที่ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงลักษณะของสิ่งที่มีจริงนั้นไม่ได้ มีอยู่ ๔ อย่าง ที่เรียกว่า ปรมัตถธรรม ๔ ได้แก่ จิต เจตสิก รูป และนิพพาน ไม่ใช่บัญญัติ บัญญัติไม่ใช่ปรมัตถธรรม บัญญัติไม่มีลักษณะให้รู้ ไม่มีจริง เพราะไม่มีลักษณะ แต่เพราะมีปรมัตถธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงนี้เอง จึงมีบัญญัติธรรม ยกตัวอย่างเช่น เพราะมีขันธ์ ๕ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีจริงที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย อันได้แก่ นามธรรม (จิตและเจตสิก) และรูปธรรม จึงมีการบัญญัติเรียกว่าเป็นคนนั้น คนนี้ เป็นคนดี เป็นคนไม่ดี เป็นต้น ทั้งหมดนี้ก็สืบเนื่องมาจากมีสิ่งที่มีจริงที่เป็นปรมัตถธรรมนั่นเอง 
      บัญญัติ คือ สิ่งไม่มีลักษณะของสภาพธรรม แต่เป็น เรื่องราว ที่เกิดจากการคิดนึก สมมติ บัญญัติขึ้น  ซึ่งเป็นสิ่งที่มีได้เพราะอาศัยสภาพธรรมที่มีจริงเกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่เห็นเป็นคน เป็นสัตว์  ขณะนั้นเป็นสมมติบัญญัติแล้ว เป็นเรื่องราว ที่เป็นสัตว์ บุคคล สิ่งต่าง ๆ บัญญัติว่าเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นต้น แต่เพราะอาศัยสภาพธรรมที่มีจริง คือ จิต เจตสิก ที่มีการเห็น เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา จิตคิดนึกในสีนั้น ปรากฏเป็นรูปร่าง สัณฐาน เป็นเรื่องราว เป็นสัตว์ บุคคล สิ่งต่าง ๆ และขณะแม้ไม่เห็น ไม่ได้ยิน แต่มีการคิดนึกในเรื่องต่าง ๆ  ขณะนั้นก็เป็นการคิดนึกในสมมติ บัญญัติ เรื่องราวต่าง ๆ ที่เคยทรงจำไว้ว่าเป็นสิ่งนั้น สิ่งนี้ แม้ที่จริงไม่ได้มีลักษณะที่มีจริง แต่เป็นการคิดในเรื่องราวที่สมมติ บัญญัติขึ้นในขณะที่คิดนึก
      สมมติ บัญญัติ จึงไม่พ้นจากชีวิตประจำวันที่เป็นไป เพราะไม่มีปัญญา จึงถูกสมมติบัญญัติปิดบังปรมัตถ์ ไม่ให้รู้ว่าแท้ที่จริงเป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่เรา ซึ่งหนทางการอบรมปัญญา คือ การเข้าใจความจริงของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ว่าเป็นแต่เพียงธรรม และเข้าใจถูกว่าเรื่องราว สมมติ บัญญัติไม่มีจริงก็จะไถ่ถอนความยึดถือด้วยความเห็นผิดว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ บุคคล.

You may also like

Leave a Comment

ช่องทางติดตามข่าวสาร

Copyright @2024  All Right Reserved – Buddhawisdomfoundation Buddhawisdom

-
00:00
00:00
Update Required Flash plugin
-
00:00
00:00