Home » ปรมัตถธรรม

ปรมัตถธรรม

by Pakawa

พระพุทธศาสนา คือ พระธรรมคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มี ๓ ขั้น
๑. ขั้นปริยัติ ศึกษาพระธรรมวินัย
๒. ขั้นปฏิบัติ เจริญธรรมเพื่อบรรลุธรรมที่ดับกิเลส ดับทุกข์
๓. ขั้นปฏิเวธ รู้แจ้งธรรมที่ดับกิเลส ดับทุกข์

พระพุทธดำรัสที่ว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นตถาคต หมายถึง การเห็นธรรม รู้แจ้งธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ คือ โลกุตตรธรรม ๙ ขั้นปฏิเวธ  การเห็นธรรมขั้นปฏิเวธเป็นผลของการ เจริญธรรมขั้นปฏิบัติ การเจริญธรรมขั้นปฏิบัติต้องอาศัยปริยัติด้วย เหตุนี้ ปริยัติ คือ การศึกษาพระธรรมวินัย จึงเป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง เป็นทางนำไปสู่พระพุทธศาสนาขั้นปฏิบัติ และขั้นปฏิเวธ เป็นลำดับไป

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเทศนาจึงเป็นธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้ การตรัสรูธรรมทำให้พระองค์ทรงหมดกิเลสและพระองคทรงแสดงธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้ ก็เพื่อให้ผู้ปฏิบัติตาม หมดกิเลสด้วย

ฉะนั้น พุทธศาสนิกชนจึงควรพิจารณาและศึกษาให้รู้ว่า ธรรม และความจริงที่พระองค์ทรงตรัสรู้นั้นคืออะไร
ความจริงที่พระองค์ทรงตรัสรู้นั้นต่างกับความจริงที่เราคิดนึก หรือเข้าใจอย่างไรบ้าง

ความจริงที่พระองค์ทรงตรัสรู้และทรงเทศนาสั่งสอนพุทธบริษัทให้เข้าใจและปฏิบัติตามจนเห็นความจริงนั้นๆ ก็คือ สิ่งทั้งหลายที่่ปรากฏนั้นเป็นธรรมแต่ละชนิดแต่ละประเภท ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล
ธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นนั้นเพราะมีปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิดขึ้นได้ เช่น ความโลภ ความโกรธ ความเสียใจ ความทุกข์ ความสุข ความริษยา ความตระหนี่ ความเมตตา ความกรุณา การเห็น การได้ยิน เป็นต้น ล้วนแต่เป็นสภาพธรรมแต่ละชนิด สภาพธรรมแต่ละชนิดแต่ละประเภทนั้นต่างกัน เพราะเกิดจากเหตุปัจจัยต่างๆ กัน

ปรมัตถธรรมมี ๔ ประเภท

จิต เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่ในการรู้สิ่งที่ปรากฏ เช่น เห็น ได้ยิน เป็นต้น จิตทั้งหมดมี ๘๙ ประเภท หรือ ๑๒๑ ประเภทโดยพิเศษ

เจตสิก เป็นสภาพธรรมอีกประเภทหนึ่งที่เกิดร่วมกับจิต รู้สิ่งเดียวกับจิต ดับพร้อมกับจิต และเกิดที่เดียวกับจิต เจตสิกแต่ละเจตสิกมีลักษณะและกิจต่างกันตามประเภทของเจตสิกนั้นๆ  เจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ ประเภท

รูป เป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่สภาพรู้ เช่น สี เสียง กลิ่น รส เป็นต้น รูปทั้งหมดมี ๒๘ ประเภท

นิพพาน เป็นธรรมที่ดับกิเลส ดับทุกข์ นิพพานไม่มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น นิพพานจึงไม่เกิดดับ

ช่องทางติดตามข่าวสาร

Copyright @2024  All Right Reserved – Buddhawisdomfoundation Buddhawisdom

-
00:00
00:00
Update Required Flash plugin
-
00:00
00:00