พระรัตนตรัย
ศักดิ์สิทธิจริงหรือ ?
ความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธศาสนานั้น เป็นด้วยเมตตาคุณ กรุณาธิคุณ และปัญญาธิคุณ ซึ่งก็ไม่ได้อยู่เหนือเหตุนอกผล และไม่ใช่อำนาจเร้นลับดำมืด น่าเกรงขาม น่าสงสัย และก็ไม่ใช่อำนาจอภินิหารมหัศจรรย์ใดๆ ที่จะไปบงการให้เกิดสิ่งต่างๆขึ้น (อย่างเลื่อนลอย)
แต่เป็นความศักดิ์สิทธิ ด้วยอำนาจที่จะดลบันดาล ดลใจให้บุคคลที่เชื่อเลื่อมใส ให้เกิดมีศรัทธาตั้งมั่นคงในความจริงความดีงาม แล้วน้อมกระทำการต่างๆที่ถูกต้อง ตรง ดีงาม ด้วยจิตใจที่เต็มเปี่ยมด้วยพลังอันแกร่งกล้าแข็ง อาจหาญ ร่าเริง ที่มีความนอบน้อมอ่อนโยนและสงบตั้งมั่นอย่างยิ่ง โดยไม่หวั่นไหว ปราศจากความคิดเห็นที่หลงผิด คลาดเคลื่อน หรือคิดร้าย คิดเบียดเบียน คืดไม่ดีต่อผู้คนใดๆ … เป็นสิ่งที่สังคมไทยในเวลานี้ต้องการมากที่สุด …
ข้อปฏิบัติในทางพระพุทธศาสนาที่เป็นหลักสำคัญสุดนั้น คือ การละเว้นห่างจากความประพฤติปฏิบัติที่เอียงสุดโต่งทั้ง ๒ ด้าน ที่เป็นกามสุขัลลิกานุโยค (หลงเพลิดเพลินหมกมุ่นมัวเมาในกามสุข) และ อัตตกิลมถานุโยค (แบบที่ก่อความทุกข์ยากลำบากเดือดร้อนแก่ตน) เหล่านั้น จึงเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา หมายถึง ข้อปฏิบัติที่เป็นกลางๆ หรือทางสายกลาง ผู้ที่งอกงามในพระพุทธศาสนาก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมมากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งละเว้นข้อปฏิบัติที่เอียงสุดได้มากขึ้นเท่านั้นโดยลำดับ ถ้าถึงขั้นเป็นบรรพชิตคือบวชในพระธรรมวินัยแล้ว ก็ถือว่าไม่ควรข้องแวะทีเดียว ควรดำเนินแน่วแน่มั่นคงในมัชฌิมาปฏิปทา และมัชฌิมาปฏิปทานี้เป็นหนทางแห่งปัญญาโดยแท้ ยิ่งเข้าถึงมัชฌิมาปฏิปทามากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งมีปัญญาช่วยนำไปให้ทำสิ่งต่างๆ ด้วยความรู้ความรอบรู้ เข้าใจด้วยความเห็นตรง ด้วยการใช้ปัญญา แก้ปัญหาด้วยปฏิบัติการที่อยู่ในวิสัยของตนมากยิ่งขึ้นเท่านั้น
มัชฌิมาปฏิปทา จึงเป็นทางดำเนินชีวิตด้วยปัญญา มีปัญญาเป็นฐานเป็นมรรคาที่นำไปสู่จุดหมายได้ และก่อให้เกิดคุณค่าแก่ชีวิตอย่างแท้จริง โดยมีหลักปฏิบัติเป็นองค์ประกอบ ๘ ประการ ทำให้ผู้ดำเนินตามไปถึงการเป็นอริยะบุคคลอย่างแท้จริง จึงเรียกว่า อริยอัฏฐังคิกมัคค์ ในพระธรรมวินัย