คำว่า ปฏิปัติ ภาษาบาลีแปลว่า จรดสภาพธรรม หรือถึงเฉพาะ หมายถึง สติและปัญญาถึงเฉพาะสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด เรียกอีกอย่างหนึ่งคือ สติปัฏฐาน ซึ่งเป็นปัญญาอีกระดับหนึ่งที่สูงกว่าขั้นปริยัติ ภาษาไทยใช้ “ปฏิปัติ” เป็น “ปฏิบัติ” แปลว่าทำ ลงมือทำ
ปฏิบัติวิปัสสนา
การฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม เพื่อที่จะได้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่เคยเข้าใจ แล้วก็ไม่ได้เคยฟังไม่ได้เคยศึกษามาก่อน ให้เข้าใจยิ่งขึ้น จึงจะเป็นปัจจัยให้ระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงในขณะนี้
เรื่องของการอบรมเจริญปัญญา ไมใช่เรื่องการคิดจะทำ โดยที่ไม่เข้าใจอะไร แต่การที่จะปฏิบัติธรรมได้ถูกต้อง หมายความว่า ต้องมีความรู้มีความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมเสียก่อน แล้วจึงจะรู้ว่า ขณะใดเป็นการปฏิบัติธรรม แต่ไม่ใช่เป็นการที่ไม่เข้าใจอะไร ก็คิดว่าจะทำวิปัสสนา หรือว่าการทำวิปัสสนานั้น จะทำอย่างไร
ถ้าไม่มีความเข้าใจ ใครจะทำวิปัสสนาได้ จะทำอย่างไรที่จะให้เป็นวิปัสสนา ที่จะทำให้เกิดความรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรม ดังนั้นก็จะต้องเริ่มต้นจากการฟังการศึกษา จนกระทั่งเข้าใจจริง ๆ ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพื่อที่จะได้ระลึกรู้ ศึกษา น้อมพิจารณา จนกว่าจะเข้าใจชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตามปกติตามความเป็นจริงในขณะนี้
ขณะใดที่สติระลึกและปัญญาศึกษา น้อมพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนั้น เป็นการถึงเฉพาะสภาพธรรมใดสภาพธรรมหนึ่ง คือการปฏิบัติ ไม่มีเราปฏิบัติ มีความเข้าใจถูกต้องว่า การที่ปัญญาจะรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมได้ ก็เพราะระลึกได้ จึงศึกษาพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่จะต้องมีความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขั้นการฟังการศึกษาเสียก่อน แล้วจึงจะเป็นปัจจัยให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเลย แล้วจะทำวิปัสสนา ก็ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้ และบางท่านเวลาที่ฟังที่ศึกษาเรื่องลักษณะต่าง ๆ ของจิต เจตสิก รูป ท่านก็คิดว่า ในขณะนั้นท่านกำลังฟังปริยัติธรรม แยกกันว่าปริยัติเป็นส่วนหนึ่ง และปฏิบัติเป็นอีกส่วนหนึ่ง แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ที่เข้าใจว่าเป็นปริยัติ คือ กำลังฟังกำลังศึกษาเรื่องลักษณะประการต่าง ๆ ไม่ใช่หมายความว่า ไม่ให้รู้ลักษณะของจิต ที่กำลังเห็นในขณะที่กำลังฟัง หรือว่าลักษณะของจิตที่กำลังได้ยินในขณะที่กำลังฟัง ลักษณะของจิตที่คิดนึกในขณะที่กำลังฟัง แต่ในขณะที่กำลังฟัง มีทั้งจิตเห็น ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ที่กำลังได้ยินนี้ ก็เป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นรู้เสียง แล้วก็มีสภาพธรรมที่กำลังคิดนึกถึงเรื่องราวต่าง ๆ ตามเสียงต่าง ๆ ที่ได้ยิน
สภาพธรรมทั้งหมด เป็นปริยัติธรรม และเป็นปฏิบัติธรรมด้วย ถ้าขณะที่กำลังฟังนี้ สติเกิดระลึกพิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ปริยัติและปฏิบัติไม่ได้แยกกัน ไม่ใช่ว่าเวลาที่กำลังศึกษาธรรมเป็นส่วนหนึ่งต่างหาก แล้วก็จะไปทำวิปัสสนา แต่ในขณะที่กำลังฟังเข้าใจ สติอาจจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังฟัง และกำลังปรากฏทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง ซึ่งเมื่อมีปัจจัยพร้อมสติและปัญญาก็เกิด ขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เราทำให้เกิด แต่เป็นธรรมซึ่งเป็นมรรคมีองค์ ๘ เกิดขึ้นปฏิบัติกิจของธรรมนั้น ๆ สติ ซึ่งเป็นองค์หนึ่งของมรรคมีองค์ ๘ เกิดขึ้น ระลึกได้ที่จะพิจารณาในขณะที่กำลังเห็น ในขณะที่กำลังฟังในขณะนี้เอง แล้วแต่ว่าสติจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพของจิตที่เห็นแจ้งในลักษณะอาการต่าง ๆ ของอารมณ์ที่ปรากฏทางตา หรือว่าเกิดได้ยินเสียงหนึ่งเสียงใดขึ้น สติก็อาจจะเกิดขึ้น เพราะในขณะนั้นรู้ว่า สติเป็นสภาพที่รู้แจ้งในลักษณะของเสียงต่าง ๆ ที่ปรากฏทางหู ขณะนี้มีเสียงปรากฏแน่นอน เสียงต่าง ๆ พอที่จะรู้ว่า เป็นเสียงอะไร นั่นเป็นเสียงต่าง ๆ เป็นลักษณะอาการต่าง ๆ ที่จิตรู้แจ้งในลักษณะอาการต่างๆ ของเสียงต่างๆ ที่กำลังปรากฏ
ถ้าเข้าใจในอรรถ ในลักษณะของจิต ซึ่งเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ต่าง ๆ เวลาที่อารมณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้น สติสามารถที่จะมีปัจจัยเกิดขึ้นระลึกได้ทันทีว่า เป็นจิตที่กำลังรู้แจ้งในลักษณะต่าง ๆ ของอารมณ์ต่าง ๆ ในขณะที่กำลังฟังในขณะนี้ ฉะนั้นก็ไม่ควรที่จะคิดว่า ปริยัติและปฏิบัติแยกกัน และไม่มีตัวเราที่พยายามจะปฏิบัติ แต่เป็นสติและปัญญาปฏิบัติ.